เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอังคารที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๖

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 5 เมษายน 2023.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอังคารที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๖


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • 49383.jpg
      49383.jpg
      ขนาดไฟล์:
      245.7 KB
      เปิดดู:
      49
  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    วันนี้ตรงกับวันอังคารที่ ๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๖ กระผม/อาตมภาพไปหาหมอผ่าตัดมา ภาษาหมอเขาเรียกว่า "โออาร์เล็ก" เป็นการผ่าตัดแบบไม่ต้องวางยาสลบ เนื่องจากว่าไม่ใช่บาดแผลที่ใหญ่นัก แต่ว่าดูจากที่หมอเย็บมา ๔ - ๕ เข็มแล้ว ก็ยังสงสัยอยู่เหมือนกันว่าไม่ใหญ่หรือวะ ? เกิดจากบาดแผลที่เหยียบพลาด แล้วไปกระแทกหินเป็นรอยช้ำเล็ก ๆ ประมาณปลายนิ้วเท่านั้น แต่ว่าระยะประมาณ ๒ - ๓ อาทิตย์ที่ผ่านมา มีอาการแข็งเป็นก้อนขึ้นมา เดินแล้วเจ็บ จึงตั้งใจว่าจะผ่าเอง..!

    แต่ก็นึกขึ้นมาได้ว่าเรามีโรงพยาบาลทั้งโรงอยู่ในมือ ก็เลยถามหมอนุ้ย (แพทย์หญิงนวลจันทร์ เวชสุวรรณมณี) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทองผาภูมิดู ว่าควรจะทำอย่างไร ? ปรากฏว่าหมอนุ้ยนอกจากมาด้วยตัวเองแล้ว ยังพาหมอมาอีก ๒ คน แล้วก็ลงความเห็นว่าอย่าผ่าเอง เพราะว่าตรงกับเส้นเลือดพอดี ถ้าหากว่าห้ามเลือดไม่อยู่จะเป็นปัญหาใหญ่ จึงต้องไปผ่าที่โรงพยาบาล

    นี่ก็เปลี่ยนผ้าปิดแผลไปสองชุดแล้ว สรุปว่าโรงพยาบาลก็ห้ามเลือดไม่อยู่เหมือนกัน มีบางท่านสงสัยว่าผ่ามาแล้วหรือยัง ? เพราะเห็นหลวงพ่อเดินตัวปลิวเลย ผ่ามาแล้ว..เพียงแต่ไม่ได้ยกฝ่าเท้าให้ดูเท่านั้น เพราะไม่ค่อยจะสุภาพนัก ยกเว้นว่าจะถีบใคร..!

    ในเรื่องของร่างกายของเรา กระผม/อาตมภาพยืนยันว่า สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้เป็นจริงทุกประการ

    ประการแรกคือ ร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา เป็นเพียงธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม ประกอบขึ้นมาให้เราอาศัยอยู่ชั่วคราว กระผม/อาตมภาพก็เลยถือคติว่า
    ในเมื่อไม่ใช่ของเรา เราก็ต้องบังคับร่างกาย ไม่ใช่ให้ร่างกายมาบังคับเรา

    ประการที่สองคือการปฏิบัติกรรมฐาน โดยเฉพาะอานาปานสติ สามารถระงับกายสังขารได้ คำว่าระงับกายสังขารในที่นี้ สรุปเป็นภาษาไทยง่าย ๆ ว่า ตัดความรู้สึกจากร่างกายไปได้

    หลายท่านก็มีประสบการณ์ว่า เวลาเราปฏิบัติธรรม เหมือนอย่างกับโลกโดนตัดหายไปเฉย ๆ ภาพก็ไม่เห็น เสียงก็ไม่ได้ยิน ไม่ต้องไปพูดถึงจมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัส เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า
    สภาพจิตกับร่างกายแยกออกเป็นคนละส่วนกัน ในเมื่อเป็นเช่นนั้น จิตไม่ไปรับรู้อาการทางร่างกาย ร่างกายอยากจะเป็นอะไรก็เป็นไป..!
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    มีอยู่ช่วงหนึ่ง สมัยนั้นกระผม/อาตมภาพยังออกธุดงค์อยู่เป็นปกติ แล้วไปพลาดท่าจากการเดินทางไปน้ำตกทุ่งนางครวญครั้งแรก ๆ สมัยนั้นยังไม่มีการเปิดทางให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ตอนนั้นตั้งใจที่จะดูให้ตลอดว่าน้ำตกมีกี่ชั้น ? ปรากฏว่าตอนปีนลงน้ำตกชั้นสูงสุด เนื่องจากไม่ใช่เส้นทางที่คนเขาขึ้นลงกัน เพราะว่าช่วงนั้นยังไม่มีทางขึ้นลง ตอนปีนลงมือเหนี่ยวก้อนหินแล้วก้อนหินติดมือมาด้วย..! จึงร่วงลงไปข้างล่าง กระแทกพื้น ก็เจ้ากรรมว่าเอาก้นไปกระแทกกับก้อนหินเข้าพอดี จนเกิดอาการบวมช้ำขึ้นมา ประมาณลูกปิงปอง แล้วกลายเป็นฝีกลัดหนองในภายหลัง จึงต้องไปให้หมอผ่า

    หมอที่ทำหน้าที่ผ่าตัดเล็กครั้งนั้นก็คือหมอเหลือง (นายแพทย์อภิศักดิ์ เหลืองเวชการ) ที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ไปผ่าตัดที่เหลืองเวชการคลีนิค คุณหมอก็ฉีดยาชาให้ ๓ - ๔ เข็ม แล้วก็เริ่มลงมือผ่า กระผม/อาตมภาพก็นอนคุยกับหมอไปเรื่อย พอถึงเวลาหมอตั้งใจจะคว้านเนื้อที่เน่าออกให้หมด ก็บอกกับหมอว่า "ตอนนี้เจ็บฉิบหายแล้วนะหมอ" หมอก็ตกใจว่าทำไมยาชาไม่ได้ผล ปรากฏว่าจุดที่หมอฉีดยาชาทั้งหมด ยาลงไปในบริเวณที่กลัดหนอง ไม่ได้อยู่ที่กล้ามเนื้อบริเวณที่จะทำให้ชา หมอบอกว่าเกิดมาก็ไม่เคยพบเคยเห็นว่า ใครที่โดนผ่าตัดเหมือนกับผ่าสด ๆ แล้วยังนอนคุยกับหมอหน้าตาเฉย..!

    ครั้งนี้ก็นอนให้หมอผ่า เจ้ากรรมว่าเครื่องอัตโนมัติดันร้องขึ้นมาพอดี ก็เลยถามหมอว่า "ตกลงเครื่องแจ้งว่าหัวใจหยุดเต้นแล้วใช่ไหม ?" ก็เลยทำให้ทุกคนหัวเราะ บรรยากาศในห้องผ่าตัดหายเครียดไปได้

    อีกประการหนึ่งก็คือ การที่การปฏิบัติธรรมของเรา ถ้าสามารถทรงรูปฌาน ๑ - ๒ - ๓ - ๔ ได้คล่องตัวแล้ว ก็ควรที่จะจับกสิณกองใดกองหนึ่งขึ้นมา เว้นเสียจากอาโลกกสิณก็คือแสงสว่าง กับอากาสกสิณก็คือการพิจารณาช่องว่าง

    ถามว่าทำไมถึงต้องเว้น ? เพราะว่าการที่เราจะทำเป็นอรูปฌานนั้น ตัวอากาสกสิณคือช่องว่าง มีความคล้ายคลึงกันมากกับอากาสานัญจายตนฌาน ถ้าเราแยกไม่ออกก็จะไม่สามารถทำเป็นอรูปฌานได้ ส่วนอาโลกกสิณนั้นเป็นการจับแสงสว่าง ถ้าหากว่าเผลอกำหนดผิด ก็จะไม่เป็นอรูปฌานเช่นกัน

    แล้วถ้าถามว่า
    อากาสกสิณกับอากาสานัญจายตนฌานต่างกันอย่างไร ? ต่างกันตรงที่ว่าอากาสกสิณนั้นจับแค่ช่องว่าง ส่วนอากาสานัญจายตนฌานนั้นจับความกว้างไม่มีขอบเขตของอากาศ ฟังรู้เรื่องไหมนี่ ? ถ้าหากว่าเราทำไปจนกระทั่งถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ที่เป็นอรูปฌานที่ ๔ หรือสมาบัติที่ ๘ เกิดอะไรขึ้นกับร่างกายเราก็ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ได้
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    อย่างหลวงพ่อเกษม เขมโก สำนักสุสานไตรลักษณ์ ท่านนั่งตากแดดร้อนเปรี้ยง ๆ อยู่เป็นเดือน ๆ จนหนังลอกเป็นแผ่น ๆ ก็ไม่เห็นท่านเป็นอะไร ก็คือร้อนก็ทำเป็นไม่ร้อน หนาวก็ทำเป็นไม่หนาว หิวก็ทำเป็นไม่หิว เป็นอาการที่กำลังจิตมีสภาพเหนือกว่าร่างกาย ความจริงตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไป ก็มีสภาพที่เหนือกว่าร่างกายแล้ว แต่ว่าไม่มาก ถ้าจะเอาระดับสูงสุด ก็ต้องถึงสมาบัติที่ ๘ หรืออรูปฌานที่ ๔

    แล้วอรูปฌานเป็นเรื่องที่แปลกมาก ไม่ว่าจะเป็นอรูปฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ กำลังก็คือรูปฌาน ๔ ทั้งหมด เพียงแต่ว่ากำหนดภาพกสิณขึ้นมาแล้วทิ้ง หรือที่ภาษาโบราณเรียกว่า "เพิกภาพนั้นเสีย" แล้วก็ไปจับความว่างของอากาศบ้าง จับความไม่มีขอบเขตของวิญญาณบ้าง จับความไม่เหลืออะไรแม้แต่น้อยหนึ่งเลยบ้าง จนกระทั่งท้ายสุด รู้สึกก็ทำเป็นไม่รู้สึกบ้าง

    ในเรื่องของสมาธิทั่ว ๆ ไป ถ้าท่านทั้งหลายมีของเก่าอยู่ สามารถที่จะกระโดดข้ามขั้นได้ บางท่านตั้งใจภาวนาเอาแค่ปฐมฌาน อาจจะไปถึงฌาน ๔ โดยไม่รู้ตัว เพราะว่ามีความชำนาญในชาติก่อน ๆ มาด้วย แต่อรูปฌานนั้นอย่างไรก็ต้องไปตามลำดับ

    เพราะว่าอากาสานัญจายตนฌานนั้น จับความว่างไม่มีขอบเขตของอากาศ พอขยับไปอรูปฌานที่ ๒ คือวิญญานัญจายตนฌานนั้น จะกำหนดความรู้สึกว่า ถึงแม้อากาศนี้จะว่างอยู่ แต่เรายังสามารถใช้ความรู้สึกคือวิญญาณ กำหนดขอบเขตนั้นได้ จึงไปจับความกว้างไม่มีขอบเขตของวิญญาณแทน

    เมื่อก้าวเข้าไปถึงอากิญจัญญายตนฌาน อรูปฌานที่ ๓ ก็เพิ่มความรู้สึกเข้าไปว่า แม้ความรู้สึกของเราจะไม่มีขอบเขต แต่จิตนี้ก็ยังมีการหน่วงยึดอยู่ ก็คือเราต้องยึดความรู้สึกที่ว่าไม่มีขอบเขตนั้น ก็จะปล่อยวางการยึดลง กลายเป็นว่าอะไรแม้แต่น้อยหนึ่งก็ไม่ยึดเอาไว้ เมื่อมาถึงตรงจุดนี้แล้ว ถึงจะรู้สึกทำเป็นไม่รู้สึกได้ ก็คือเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน อรูปฌานที่ ๔ ฟัง ๆ เอาไว้ก่อน เผื่อใครมีโอกาสทำได้บ้าง..!

    สมัยที่กระผม/อาตมภาพอยู่ที่เกาะพระฤๅษี มีต้นไม้อยู่ต้นหนึ่ง เขาเรียกว่าประดู่เลือด หรือว่าประดู่ส้ม พอแตกใบอ่อนเมื่อไรจะมีผีเสื้อมาวางไข่ แล้วออกมาเป็นหนอนคัน ได้เกาคะเยอกันทุกปี เพราะว่าต้นไม้สูงใหญ่มาก ถึงเวลาขนของหนอนปลิวไปถึงไหนก็คันถึงที่นั่น โดยเฉพาะคุณจิรา ลิ่วเฉลิมวงศ์ นามสกุลนี้ท่านทั้งหลายอาจจะคุ้น เพราะว่าน้องแบม (จณิสตา ลิ่วเฉลิมวงศ์) ก็เป็นดาราที่มีชื่อเสียงอยู่ เป็นลูกหลานของเขาเอง มาอยู่ปฏิบัติธรรมแล้วปรากฏว่าแพ้ขนบุ้ง คอบวม หายใจไม่ออก เกือบตาย กระผม/อาตมภาพก็เลยตัดสินใจว่าจะต้องตัดต้นประดู่นี้ทิ้งไปเลย..!
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    คราวนี้ไม่มีใครขึ้นไป เพราะว่าหนอนคันเต็มไปทั้งต้น กระผม/อาตมภาพก็เลยต้องขึ้นไปเอง โดยการตัดเลาะกิ่งอื่นทิ้งให้หมดก่อน ให้เหลือแต่ลำต้น ถึงเวลาโค่นลงจะได้ไม่ไปกระทบอะไร ปรากฏว่าพอลงมาข้างล่าง ทั้งเนื้อทั้งตัวก็มีแต่ตุ่มซ้อนตุ่ม หนาเห่อไปทั้งตัว สองชั้น สามชั้น สี่ชั้น เพราะว่าโดนขนหนอนบุ้งทั้งตัว หลังจากอาบน้ำเสร็จเรียบร้อยแล้ว ตอนนั้นทิดตู่ (นายชาญชัย อาจิระวัฒน์) ยังบวชเป็นสามเณรอยู่ก มาถามว่า "หลวงพี่ไม่คันหรือครับ ?" เลยบอกไปว่า "มึงก็อย่าไปคิดถึงสิวะ..!" จนป่านนี้ทิดตู่รู้หรือยังก็ไม่รู้ ว่าตอนนั้นกระผม/อาตมภาพทำอะไรอยู่ เพราะถ้าเป็นคนทั่ว ๆ ไปก็คงเกากันเลือดเข้าเลือดออกไปเรียบร้อยแล้ว..!

    ดังนั้น
    ..สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนเรามา ไม่ว่าจะเป็นสมถกรรมฐาน คือการระงับใจให้สงบ รัก โลภ โกรธ หลง กินไม่ได้ชั่วคราว หรือว่าวิปัสสนากรรมฐาน การรู้แจ้งเห็นจริง สภาพจิตยอมรับ แล้วปล่อยวางได้ก็ตาม ล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ทั้งสิ้น ทั้งสองอย่างต้องทำควบคู่กันไปถึงจะเกิดผลเร็วมาก

    ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายทำมาในด้านของรูปฌาน อย่างน้อย ๆ กำลังใจก็ควบคุมร่างกายได้ในระดับหนึ่ง เจ็บไข้ได้ป่วยก็แสดงออกน้อยลง แต่ถ้าทำมาทางอรูปฌานก็จะไม่ใส่ใจร่างกายไปเลย ถือว่าถ้าจะใช้ประโยชน์แค่ทางโลก ๆ ก็มีประโยชน์มากตรงที่ระงับอาการทางร่างกายได้

    แต่ถ้าจะใช้ประโยชน์ในทางธรรม ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ท่านทั้งหลายจะต้องกลับไปพิจารณาในวิปัสสนาญาณ ให้เห็นชัดเจนว่าร่างกายนี้ไม่เที่ยงอย่างไร เป็นทุกข์อย่างไร ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราอย่างไร ถ้าสภาพจิตยอมรับ ก็จะปล่อยวางการยึดมั่นถือมั่น ปล่อยได้มากเท่าไร ความเป็นพระอริยเจ้าก็เข้าถึงเรามากเท่านั้น


    สำหรับวันนี้ ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันอังคารที่ ๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...