เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๖

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 31 สิงหาคม 2023.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,366
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,526
    ค่าพลัง:
    +26,366
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๖


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,366
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,526
    ค่าพลัง:
    +26,366
    วันนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๓๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๙ ซึ่งจะว่าไปแล้ว วันพระใหญ่แบบนี้ กระผม/อาตมภาพควรที่จะอยู่วัด เพื่อที่ให้ญาติโยมซึ่งมาทำบุญได้เห็นหน้ากันบ้าง เนื่องเพราะว่าเมื่อคืนนี้ กว่าที่จะกลับถึงวัดท่าขนุนก็ ๒ ทุ่มกว่าแล้ว แต่ปรากฏว่าอยู่วัดได้ไม่ถึง ๑๒ ชั่วโมง ช่วงเช้าหลังจากที่เจริญพระกรรมฐานและทำวัตรเช้า ร่วมกับพระภิกษุตลอดจนกระทั่งญาติโยมแล้ว ก็ได้ขอสัตตาหะฯ ท่ามกลางสงฆ์ เนื่องเพราะว่าเป็นวันเดียวที่เหลือว่างอยู่ ซึ่งจะได้รับการซ่อมสุขภาพที่ชำรุดไปบ้าง

    โดยเฉพาะการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด ๑๙ เนื่องเพราะว่าไปตะลอนอยู่ทางด้านนอกมาหลายวัน แล้วอาการเจ็บไข้ได้ป่วยนั้นก็มีทั้งไข้ขึ้นสูง มีทั้งอาการไอ ทำให้ระแวงว่าจะติดเชื้อไวรัสโควิด ๑๙ หรือเปล่า ? ซึ่งความจริงแล้วกระผม/อาตมภาพนั้นมีเชื้อมาลาเรียเรื้อรังอยู่ภายในร่างกายของตนเอง เจ็บไข้ได้ป่วยด้วยโรคอะไรก็ตาม มาลาเรียจะช่วยซ้ำให้
    อาการหนักกว่าปกติ

    วันก่อนก็เพิ่งจะใช้ชุดตรวจเร่งด่วน คือ ATK ไปแล้ว ไม่พบเชื้อ มาวันนี้ได้รับการตรวจอย่างเป็นทางการ ก็ยังคงไม่พบเชื้ออีก แม้ว่าจะทำให้มั่นใจขึ้นว่า เป็นเพียงหวัดธรรมดาจากอากาศที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา แล้วโดนเชื้อมาลาเรียซ้ำเติมก็ตาม แต่เพื่อความปลอดภัย อย่างน้อยก็ควรที่จะตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด ๑๙ เสียก่อน เนื่องเพราะว่าถ้าเราเป็นผู้แพร่เชื้อ ก็จะมีผู้ที่เดือดร้อนเพราะตัวเราอีกมาก

    วันนี้เมื่อขอสัตตาหะกรณียะ เพื่อไปทำหน้าที่ของตนตามปกติ ก็ต้องมอบฉันทะให้กับพระภิกษุวัดท่าขนุนลงทบทวนพระปาฏิโมกข์แทน เรื่องของพระปาฏิโมกข์นั้น ก็คือการลงโบสถ์เพื่อทบทวนศีลพระทุกกึ่งเดือน ภาษาบาลีใช้คำว่า อัฑฒมาสัง

    อัฑฒ คือ ครึ่งหนึ่ง มาสัง หรือ มาสะ ก็คือ เดือน ก็แปลว่า ทุกครึ่งเดือน จะต้องลงโบสถ์ทบทวนพระปาฏิโมกข์ว่า ศีลทั้ง ๒๒๗ ข้อนั้น มีข้อใดบกพร่องบ้าง ?

    เมื่อองค์แสดงพระปาฏิโมกข์สาธยายไปทีละอุทเทส ทีละวรรค เราก็ได้ทบทวนไปว่าศีลข้อไหนของเราบกพร่องบ้าง ถ้าหากว่าเป็นอาบัติหนัก คือปาราชิก ๔ ข้อ ซึ่งโดนแล้วขาดความเป็นพระก็ดี สังฆาทิเสส ๑๓ ข้อ ซึ่งโดนแล้วขาดความเป็นพระชั่วคราว จนกว่าจะได้รับการแก้ไขก็ตาม สิ่งทั้งหลายเหล่านี้จะทำให้สังฆกรรมเสีย ก็คือเราเท่ากับเป็นผู้มีศีลไม่เท่ากับพรรคพวกเพื่อนฝูง แล้วไปนั่งอยู่รวมกัน เท่ากับเป็นอนุปสัมบัน คือผู้ที่มีศีลน้อยกว่า เข้าไปอยู่รวมกับผู้ที่มีศีลมากกว่า ทำให้สังฆกรรมนั้นเสียหาย เพราะว่าเราไม่เป็นผู้บริสุทธิ์

    ส่วนอาบัติอื่น ๆ ตั้งแต่ถุลลัจจัยลงไปจนถึงทุพภาษิต สามารถที่จะแสดงคืนได้
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,366
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,526
    ค่าพลัง:
    +26,366
    โดยปกติแล้ว เมื่อแสดงจบในแต่ละอุทเทส ก็จะมีคำถามว่า ตัตถายัสมันเต ปุจฉามิ กัจจิตถะ ปะริสุทธา ? ขอถามว่าท่านทั้งหลายบริสุทธิ์ในสิกขาบทเหล่านี้แล้วหรือ ? ทุติยัมปิ ปุจฉามิฯ ตะติยัมปิ ปุจฉามิฯ มีการสอบถามเป็นวาระที่สอง วาระที่สาม ถ้าใครระลึกขึ้นมาได้ ว่าเราเป็นผู้ที่ไม่บริสุทธิ์ มีการล่วงในสิกขาบทใดสิกขาบทหนึ่ง ก็จะขออนุญาตแสดงคืนในท่ามกลางสงฆ์

    โดยมีการปฏิญาณตนว่า นะ ปุเนวัง กะริสสามิ ข้าพเจ้าจักไม่กระทำเช่นนี้อีก

    นะ ปุเนวัง ภาสิสสามิ ข้าพเจ้าจักไม่พูดเช่นนี้อีก

    นะ ปุเนวัง จินตะยิสสามิ ข้าพเจ้าจักไม่คิดเช่นนี้อีก แปลว่าแม้แต่คิดก็ไม่คิด อย่าว่าแต่พูดหรือกระทำเลย


    แต่ว่าในสมัยนี้นั้น ส่วนใหญ่แล้วพวกเราทั้งหลายก็แสดงคืนอาบัติ ตั้งแต่ก่อนที่จะไหว้พระแล้วทบทวนพระปาฏิโมกข์ จึงไม่ต้องหยุดยั้งลงกลางคันเหมือนกับสมัยโบราณนี้ แต่ว่าในสิ่งทั้งหลายเหล่านี้นั้น ก็ยังเป็นเรื่องสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา เพราะว่าศีลนั้นเป็นรากแก้วของพระพุทธศาสนา ต้นไม้ถ้าไม่มีราก ย่อมไม่สามารถที่จะเจริญเติบโตได้

    มีหลายท่านบอกว่า ธรรมะนั้นเป็นแก่นของพระพุทธศาสนา แล้วก็มีการมองข้ามศีลไป เรื่องทั้งหลายเหล่านี้นั้นเป็นเรื่องของการปรามาสพระรัตนตรัยโดยที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เนื่องเพราะว่าไม่ว่าจะเป็นราก เป็นลำต้น เป็นกิ่ง เป็นใบ เป็นผล เป็นแก่น เป็นเปลือก เป็นกระพี้ก็ตาม สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เมื่อประกอบกันเข้ามา จึงจะเป็นต้นไม้แห่งพระพุทธศาสนาที่งดงามและร่มเย็น ขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไป ความงดงามก็จะลดลงไปตามลำดับ

    ดังนั้น..ไม่ว่าท่านจะบอกว่าสิ่งใดสำคัญก็ตาม ก็เป็นความสำคัญแค่เป็นส่วนหนึ่งของพระพุทธศาสนา ต้องนับภาพรวมทั้งหมดว่าพระพุทธศาสนาของเราประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ? ในระดับสูงก็คือศีล สมาธิ และปัญญา เป็นต้น ในระดับต่ำ ๆ ของเราก็ยังมีทาน - การให้ มีอนุสติ - การตามระลึกถึง ซึ่งสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ต้องประกอบเข้าหากัน ไม่ใช่ไปแยกส่วนใดส่วนหนึ่ง วัตถุใดก็ตาม ถ้าประกอบเข้าด้วยกันก็จะมั่นคงแข็งแรง แต่ถ้าไปแยกชิ้นส่วนเมื่อไร ก็จะโดนทำลายลงได้ง่าย..!
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,366
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,526
    ค่าพลัง:
    +26,366
    ดังนั้น..การที่ท่านทั้งหลายจะไปแยกว่า ส่วนนั้นเป็นเปลือก ส่วนนี้เป็นแก่น ดีไม่ดีก็จะกลายเป็นการปรามาสพระรัตนตรัย แล้วเกิดโทษกับตนเองโดยใช่เหตุ เนื่องเพราะว่าเรารู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือว่าเราเองอาจจะจิตหยาบเกินไป ก็เลยเข้าไม่ถึงความละเอียดอย่างที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องการ เป็นต้น

    หลังจากที่บอกขอสัตตาหะฯ ท่ามกลางสงฆ์แล้วออกเดินทาง กระผม/อาตมภาพเองก็ต้องนอนไข้จับมาในรถ เนื่องเพราะว่าอากาศของทองผาภูมินั้น ความชื้นสูงมาก เพราะว่ามีฝนตกอยู่เกือบทุกวัน หรือเกือบทั้งวันทั้งคืน เมื่อขึ้นไปกระทบความชื้น ลงมากระทบความร้อน ร่างกายที่มีเชื้อมาลาเรียอยู่ ก็ย่อมไวต่อการเจ็บไข้ได้ป่วย จึงโดนโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดจากเศษกรรมปาณาติบาต ฉวยโอกาสเล่นงานทุกครั้งที่เดินทางขึ้นลง แต่ว่าก็จำเป็นที่จะต้องรับเอาไว้ เนื่องเพราะว่าเราทำ เราถึงต้องรับ

    ถ้าหากว่าทุกท่านพิจารณาให้เห็นว่า เรามีความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นธรรมดา ไม่สามารถที่จะล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้ ท่านทั้งหลายก็จะเห็นความเป็นปกติธรรมดาของร่างกายนี้ เรามีหน้าที่ดูแลรักษาก็ทำหน้าที่นั้นอย่างเต็มที่ ส่วนรักษาแล้วจะดีขึ้นหรือไม่ดีขึ้นไปกว่านี้ ก็แล้วแต่เวรแต่กรรมที่ได้กระทำมา ในเมื่อเราดูแลรักษาเต็มที่แล้ว ได้แค่ไหนก็ต้องยอมรับว่าเราทำได้แค่นั้น

    เมื่อเดินทางมาถึงยังที่พัก
    กระผม/อาตมภาพก็ได้เร่งรีบในการทำรายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของวัดท่าขนุน ในฐานะลานธรรมลานวิถีไทย ตามโครงการพลังบวร ซึ่งได้รับงบประมาณจากกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ๑๕,๐๐๐ บาท เพื่อให้ดำเนินการต่าง ๆ ที่เป็นการประสานบ้าน วัด โรงเรียน และส่วนราชการเข้าด้วยกัน

    ทางวัดท่าขนุนก็รายงานไปแค่ ๓ อย่าง ก็คือ โครงการ "หิ้วตะกร้า นุ่งผ้าไทย นั่งแคร่ไม้ ใส่บาตรพระทุกวันอาทิตย์" ซึ่งจะมีรายจ่ายในการดำเนินงานประมาณอาทิตย์ละ ๑,๐๐๐ บาท ฟังดูแล้วน้อยมาก แต่ท่านทั้งหลายต้องเข้าใจว่า ๑ ปีมี ๕๒ อาทิตย์ ก็แปลว่ามีรายจ่ายปีละ ๕๒,๐๐๐ บาท

    ส่วนในเรื่องของการบวชเนกขัมมะเฉลิมพระเกียรตินั้น ในแต่ละวันที่บวชจะมีค่าอาหารของญาติโยมประมาณวันละ ๑๐,๐๐๐ บาท ตามโครงการก็คือส่วนใหญ่จะประมาณ ๓ วัน ๒ คืน ก็แปลว่างานละ ๓๐,๐๐๐ บาท ปีหนึ่งอย่างน้อยจัด ๖ ครั้ง อย่างน้อยต้องใช้งบประมาณ ๑๘๐,๐๐๐ บาท
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,366
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,526
    ค่าพลัง:
    +26,366
    ส่วนงานตามประทีป ๑๐,๐๐๐ ดวง ถวายเป็นพุทธบูชาปีละ ๔ ครั้งนั้น เราจะต้องใช้เทียนในการหล่อผางประทีป ครั้งละประมาณ ๑ ตันครึ่ง คิดเป็นเงินราว ๆ ๓๐,๐๐๐ บาทเศษ ตีเสียว่า ๓๐,๐๐๐ บาทถ้วน ปีหนึ่งจัด ๔ งาน ก็ตกอยู่ที่ประมาณ ๑๒๐,๐๐๐ บาท

    ก็แปลว่าเราจะใช้งบประมาณในแค่ ๓ งานที่รายงานนี้ ประมาณปีละ ๓๕๒,๐๐๐ บาท แต่เราได้รับการสนับสนุนมาแค่ ๑๕,๐๐๐ บาท แล้วก็ต้องทำรายงานส่งอยู่ทุกปีงบประมาณ บางทีก็ออกอาการ "น้ำตาจิไหล..!" เนื่องเพราะว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้นั้น ทางวัดแต่ละวัด ทางเจ้าอาวาสแต่ละวัด ล้วนแล้วแต่ต้องควักย่ามของตนเองเสริมเข้าไป จากเงินที่ญาติโยมมีจิตศรัทธาบริจาคมา ถ้ามัวแต่รองบประมาณหลวง ก็ไม่ต้องทำอะไรกันเลย..!

    มีบางครั้งสมัยที่เริ่มทำหน้าที่เจ้าอาวาสใหม่ ๆ
    กระผม/อาตมภาพได้ต่อว่าบรรดาหน่วยงานที่มาสนับสนุนว่า "คุณให้มาเพียงแค่นี้แล้วจะไปทำอะไรได้ ?" บางหน่วยงานให้งบประมาณสนับสนุนมา ๒,๕๐๐ บาทต่อปี แต่ว่าขอรายงานทุกไตรมาส แค่ค่ากระดาษในการทำรายงานก็ไม่เพียงพอแล้ว เจ้าหน้าที่ก็กราบขอโทษ บอกว่า "หลวงพ่อครับ สมัยนี้ยังดีว่าสามารถจัดสรรงบประมาณแบ่งปันมาให้ สมัยก่อนยังต้องขอจากวัดต่าง ๆ เสียด้วยซ้ำไปครับ..!"

    กระผม/อาตมภาพได้ฟังแล้วก็พูดไม่ออก ได้แต่เวทนาบรรดาหน่วยงานราชการต่าง ๆ เนื่องเพราะว่าแต่ละงบประมาณที่ได้รับมานั้น ฟังดูแล้วน้อยมาก แต่ถ้าเรามานึกถึงว่า มีวัดอยู่ ๓๐,๐๐๐ กว่าวัด ถ้าหากว่านับแค่ชุมชนคุณธรรมก็มีอยู่ถึง ๗,๐๐๐ กว่าแห่ง ๗,๐๐๐ กว่าแห่ง ถ้าแห่งละ ๑๕,๐๐๐ บาท ท่านทั้งหลายต้องนึกว่าเป็นจำนวนมหาศาลขนาดไหน

    จึงเป็นเรื่องที่เราทั้งหลาย ซึ่งโดยปกติแล้วทำงานเหล่านี้ด้วยใจ ทำเพราะว่าอยากทำ ไม่ใช่ทำเพราะอยากได้รับงบประมาณ จึงสามารถที่จะทำได้ทน ทำได้นาน ถ้าทำเพราะอยากได้รับงบประมาณ เมื่อถึงเวลาไม่มีงบประมาณสนับสนุน ท่านทั้งหลายเหล่านั้นก็จะหมดอารมณ์ในการที่จะทำ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก

    เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ กระผม/อาตมภาพแม้ว่าจะบ่นไปตามประสาคนแก่ แต่ก็ต้องทำรายงานจนเสร็จ และส่งให้กับทางด้านสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกาญจนบุรีบ้าง ส่งให้กับทางสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดกาญจนบุรีบ้าง ตามหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายมา ส่วนงบประมาณได้มาแล้วจะคุ้มหรือไม่คุ้ม ต้องควักโปะลงไปกี่สิบกี่ร้อยเท่านั้น เราไม่ไปคิดถึง..!

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันพฤหัสบดีที่ ๓๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...