เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันเสาร์ที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๖๖

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 23 กันยายน 2023.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,385
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,528
    ค่าพลัง:
    +26,366
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันเสาร์ที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๖๖


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,385
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,528
    ค่าพลัง:
    +26,366
    วันนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ ๒๓ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๖ หลังจากเจริญพระกรรมฐาน และทำวัตรเช้าร่วมกับพระภิกษุวัดท่าขนุนแล้ว กระผม/อาตมภาพก็ขอ "สัตตาหะกรณียะ" ในท่ามกลางสงฆ์ เพื่อที่จะไปปฏิบัติภารกิจของตนต่อไป เมื่อ "ได้อรุณ" แล้ว ก็ไปร่วมกันฉันเช้าที่โรงครัวของวัดท่าขนุน

    เหตุที่ไม่ได้ออกบิณฑบาต ก็เพราะว่าวันนี้มีการประชุมพระสังฆาธิการระดับเจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ของคณะสงฆ์จังหวัดกาญจนบุรี ประจำปี ๒๕๖๖ ที่วัดหนองหญ้าปล้อง หมู่ที่ ๘ ตำบลจระเข้เผือก อำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี

    ของวัดท่าขนุนนั้น นอกจากเจ้าอาวาสวัดข้างเคียงอย่างวัดพุทธมณฑลอรัญญิกาวาส วัดพุทธบริษัท วัดวังปะโท่แล้ว ยังมีสำนักสงฆ์เกาะพระฤๅษี สำนักสงฆ์ถ้ำทะลุ เหล่านี้เป็นต้น ล้วนแล้วแต่ต้องเข้าประชุมทั้งสิ้น แล้วยังมีผู้ช่วยเจ้าอาวาสอีกหลายรูป เมื่อฉันเช้าแล้วรีบเดินทางไปถึง ก็เกือบจะ ๘ โมงครึ่งแล้ว

    ต้องบอกว่าทางวัดท่าขนุนของเราที่อำเภอทองผาภูมิก็ดี ทางด้านอำเภอสังขละบุรีก็ตาม สมัยที่พระเดชพระคุณพระธรรมโพธิมงคล (สมควร ปิยสีโล ป.ธ.๙) เจ้าคณะภาค ๒ เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ยังเป็นเจ้าคณะภาค ๑๔ อยู่ ท่านยกให้เป็นสองอำเภอที่ไม่ต้องไปร่วมงานคณะสงฆ์ก็ได้ เหตุเพราะว่าต้องเดินทางไกลมาก จากอำเภอทองผาภูมิลงมาแค่ตัวเมืองกาญจนบุรี ก็ ๑๔๐ กิโลเมตรแล้ว อำเภอสังขละบุรียิ่งหนักหนาสาหัสกว่านั้นอีก ก็คือ ๒๒๐ กิโลเมตร..!

    แม้ว่าจะได้รับพรพิเศษแบบนี้ก็ตาม ด้วยความรับผิดชอบต่อหน้าที่ กระผม/อาตมภาพก็ไปร่วมงานตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาทุกครั้ง จนกระทั่งท่านเห็นว่ามีใจให้กับงานคณะสงฆ์จริง ๆ จึงได้แต่งตั้งให้กระผม/อาตมภาพ ซึ่งตอนนั้นเป็นเจ้าคณะตำบลท่าขนุนเขต ๒ เลื่อนขึ้นไปเป็นรองเจ้าคณะอำเภอทองผาภูมิ ต้องบอกว่าความขยันเป็นเหตุ จนไปเข้าตาผู้บังคับบัญชาเข้า..!

    เมื่อไปถึงก็จัดการลงทะเบียนร่วมงาน เสร็จสรรพเรียบร้อยแล้วก็กราบรายงานพระเดชพระคุณพระเทพปริยัติโสภณ, ดร. (ปัญญา วิสุทฺธิปญฺโญ ป.ธ.๙) เจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี และพระเดชพระคุณพระราชวชิรโมลี (สมชาย พุทฺธญาโณ ป.ธ.๗) รองเจ้าคณะภาค ๑๔ ทั้งสองท่านว่า หลังจากพิธีเปิดเสร็จสรรพเรียบร้อยแล้ว กระผม/อาตมภาพต้องขออนุญาตไปซ่อมสุขภาพก่อน เนื่องเพราะว่าเดินทางไปตรวจยกหมู่บ้านศีล ๕ ต้นแบบมา ๒๒ ใน ๒๓ จังหวัด ขาดไปแค่จังหวัดเดียวเท่านั้น เล่นเอาสังขารชำรุด จะหลุดเป็นชิ้น ๆ ต้องไปหาหมอประกอบร่างใหม่..! ทำเอาทั้งสองท่านทั้งขำ ทั้งเห็นใจ
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,385
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,528
    ค่าพลัง:
    +26,366
    เมื่อถึงเวลา พระเดชพระคุณพระธรรมวชิรานุวัตร, ดร. (แย้ม กิตฺตินฺธโร) เจ้าคณะภาค ๑๔ ก็ทำพิธีเปิด นำพวกเราสวดมนต์ไหว้พระ หลังจากรับการถวายสักการะจากทางผู้ใต้บังคับบัญชาของทางคณะสงฆ์ และทางด้านฆราวาส ซึ่งมีร้อยโททศพล ไชยโกมินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีเรียบร้อยแล้ว

    พระเดชพระคุณหลวงพ่อเจ้าคุณแย้มท่านก็ลงมานั่ง บอกว่าท่านจะไม่บรรยายตอนนี้ แต่ว่าให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีบรรยายก่อน เพราะท่านอยากจะฟังว่า ทางด้านผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีนั้น มีความเห็นต่อคณะสงฆ์จังหวัดกาญจนบุรีอย่างไร ?

    เมื่อเป็นเช่นนั้น กระผม/อาตมภาพจึงขอตัวออกมาทางด้านนอก ลาพระครูไพโรจน์ภัทรคุณ, ดร. เจ้าคณะตำบลดอนข่อย เจ้าอาวาสวัดสระพัง จังหวัดนครปฐม เพื่อนร่วมรุ่นปริญญาเอก ที่มาเป็นเจ้าภาพถวายภัตตาหารเพลในงานประชุมครั้งนี้ ต้องบอกว่าการเลี้ยงพระเป็นร้อย ๆ รูปนั้น เป็นสิ่งที่พระครูไพโรจน์ภัทรคุณ, ดร. ท่านทำเป็นปกติ งานนี้บรรดาพระสังฆาธิการผู้เข้าร่วมประชุมก็มีถึง ๗๐๐ กว่ารูปด้วยกัน

    หลังจากนั้นแล้วก็ให้น้องเล็ก (นางสาวจิราพร ซื่อตรงต่อการ) พาวิ่งยาวออกมาทางด้านกาญจนบุรี - พนมทวน - อู่ทอง - สุพรรณบุรี ลัดขึ้นไปจนกระทั่งถึงอินทร์บุรี เพื่อเข้าไปหาท่านอาจารย์บ๊ะ (พระอาจารย์ศิริชัย ชยธมฺโม) ให้ท่านช่วยซ่อมสังขารให้ ท่านเองก็ยังปรารภว่า "อายุขนาดนี้แล้ววิ่งทำงานได้ระดับนี้ ถือว่าโคตรแข็งแรงแล้วครับ..!" ว่าแล้วก็จัดการซ่อมไปหัวเราะไป บอกว่า "ข้างบนก็ดัง ข้างล่างก็ลั่น" แปลว่าหลวมไปหมดทั้งตัวแล้ว..!

    เสร็จสรรพเรียบร้อย กระผม/อาตมภาพก็เดินทางเข้าสู่ที่พักคืนนี้ เพื่อเตรียมที่จะไปเป็นประธานในการออกนิโรธกรรมของครูบาวิฑูรย์ ชินวโร เจ้าสำนักสงฆ์ปรียนันท์ธรรมสถาน ซึ่งท่านเข้านิโรธกรรม ๙ วัน ๙ คืน กระผม/อาตมภาพต้องมาเป็นประธานในการนำท่านออกจากนิโรธกรรมทุกปี

    ในระหว่างนั้นก็ตรวจงาน ส่งงานทางไลน์ ปรากฏว่าทางด้านน้องมายล์ (นางสาวปิตุกาญจน์ นุชสวาท) และน้องท็อป (นายกัลธารวัจน์ อุษาวัฒนากูล) สองผู้ทรงคุณวุฒิของสภาวัฒนธรรมอำเภอทองผาภูมิ ซึ่งกระผม/อาตมภาพมอบให้รับผิดชอบเกี่ยวกับงานทอผ้าพื้นเมือง น้องท็อปได้ส่งการทอผ้าพื้นเมืองลายสวัสดิรักษา ซึ่งพัฒนาขึ้นมา เพื่อที่จะได้เป็นเอกลักษณ์ของทางอำเภอทองผาภูมิของเราโดยเฉพาะ โดยใช้ตามที่ปรากฏอยู่ในเรื่องขุนช้างขุนแผนว่า

    ฯลฯ..อนึ่งภูษาผ้าทรงณรงณ์รบ
    ควรมีครบเครื่องเสร็จทั้งเจ็ดสี
    วันอาทิตย์สิทธิโชคโฉลกดี
    เอาเครื่องสีแดงทรงเป็นมงคล..ฯลฯ


    เหล่านี้เป็นต้น​


     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,385
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,528
    ค่าพลัง:
    +26,366
    กระผม/อาตมภาพได้ปรารภกับน้องท็อปว่า ความจริงของโบราณมากกว่านี้ยังมีอยู่ และไม่ใช่สีเดียวกับนี่ด้วย ว่าแล้วก็ท่องให้ฟังไปได้ไม่กี่ประโยค น้องท็อปบอกว่า "ถ้ามีเวลา รบกวนหลวงพ่อช่วยเขียนให้ด้วยครับ เพราะว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้หาในอินเตอร์เน็ตไม่ได้" กระผม/อาตมภาพ จึงขออาศัยตรงนี้ว่า ถ้าหากว่าเรื่องของเครื่องทรง โดยเฉพาะในการออกรบนั้น โบราณเก่าแก่เขามีไว้ว่า

    รวิสิทธิด้วย อาภรณ์
    แดงพิจิตรอลงกรณ์ ก่องแก้ว
    ทรงแสงธนูศร ลีลาศ
    เสด็จสู่สงครามแผ้ว ผ่องพ้น ไพรี

    จันทรวารภูษณพื้น โขมพัสตร์
    กรกลึงดาบขัด เพริศแพร้ว
    เสด็จจรกำจัดดัส -กรราช
    โดยพิชัยฤกษ์แล้ว ล่มล้าง ศัตรู

    ภุมวารวิศิฏฐ์ด้วย ชมพู
    ทรงพระแสงกรชู ดาบดั้ง
    เฉกองค์มฤตยู ยุรยาตร
    มวลอรินทร์ต่อตั้ง แตกด้วย เดชา

    พุธวารสารสวัสดิ์สร้อย สีนิล
    เขียวคู่องค์อมรินทร์ รุ่งฟ้า
    ทรงดาบพิชัยยุทธลิน ลาลาศ
    ยกพยุหะกาจกล้า วาก-ว้าง ชิงชัย

    พฤหัสพิพัฒน์ภาคพื้น ภูษา
    สีม่วงเมฆยาตรา รุกเร้า
    ทรงแสงศักดิ์เดชา ไชยเยศ
    คลายคลี่พิริยะพลเต้า ต่อต้าน รณรงค์

    สุกโรวโรฤทธิ์เรื้อง อาภรณ์
    เหลืองเลื่อมลายอลงกรณ์ ก่องแก้ว
    ทรงแสงธนูรอน อริราช
    เสด็จปราบสงครามแผ้ว ผ่องพื้น ปฐพี

    เสาวโรรุจิล้วน ดำดี
    ทรงสรรพาวุธลี ลาศเต้า
    ออกแย้งยุทธไพรี รณภาพ
    ทวยเทพอวยชัยเช้า ค่ำให้ สถาพร

    เสด็จสรรพเสาวภาคย์เบื้อง เบาราณ
    ตามลัทธิอาจารย์ กล่าวไว้
    สำหรับปิ่นจุฑาธาร ทรงสู่ ศึกนา
    ชาวพ่ออุตสาห์ได้ เร่งรู้ เรียนจำ


    เรื่องทั้งหลายเหล่านี้นั้น หาไม่ได้ในอินเตอร์เน็ตปัจจุบัน นอกจากที่กระผม/อาตมภาพได้บอกกล่าวเอาไว้แล้ว และหลายสิ่งหลายอย่าง เมื่อมาถึงปัจจุบันนี้ ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามลำดับ
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,385
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,528
    ค่าพลัง:
    +26,366
    สมัยที่กระผม/อาตมภาพเรียนชั้นประถมอยู่นั้น สำหรับสีประจำวัน เขาให้ท่องว่า

    สัปดาห์หนึ่งนั้นมี จำให้ดีมีเจ็ดวัน
    สีแดงนั้นวันอาทิตย์ เหลืองจับจิตคือสีวันจันทร์

    วันอังคารสีสวยงาม สมนามคือสีชมพู
    พุธนั้นดูเขียวขจี พฤหัสบดีเป็นสีน้ำเงิน

    วันศุกร์สวยเกิน มองเพลินเป็นม่วงงามขำ
    เสาร์สีดำจำเอาไว้ ท่องให้ขึ้นใจอย่าได้ลืมเอย


    เราจะเห็นได้ว่า ตั้งแต่วันพฤหัสบดีนั้นได้เปลี่ยนมาเป็นสีส้ม วันศุกร์เป็นสีฟ้า วันเสาร์เป็นสีม่วง ซึ่งกระผม/อาตมภาพก็ไม่รู้เหมือนกันว่า การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นตอนไหน แล้วถ้าเอาตามตำราพิชัยสงครามโบราณ ที่กระผม/อาตมภาพว่าไปในตอนแรกนั้น นอกจากเสื้อผ้าอาภรณ์แล้ว ยังต้องใช้อาวุธคู่มือให้ตรงกับวันด้วย

    อย่างเช่นว่า วันอาทิตย์ใช้สีแดง พร้อมกับธนู วันจันทร์ใช้ผ้าพื้น ซึ่งก็น่าจะเป็นพื้นขาว พร้อมกับใช้ดาบ วันอังคารใช้สีชมพู พร้อมกับดาบและดั้ง วันพุธใช้สีเขียว ทรงดาบเหมือนกัน วันพฤหัสบดีใช้สีม่วง ต้องบอกว่าม่วงเข้ม พร้อมกับอาวุธอะไรก็ได้ วันศุกร์นั้นใช้สีเหลืองพร้อมกับธนู วันเสาร์ใช้สีดำ ใช้อาวุธได้ทุกอย่าง

    เรื่องพวกนี้ พอนาน ๆ ไป ไม่ทราบเหมือนกันว่าค่านิยมจากที่อื่น อย่างเช่นว่าอาจจะมาจากทางด้านวัฒนธรรมอินเดียบ้าง วัฒนธรรมจีนบ้าง ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงไปก็เป็นได้

    สิ่งที่กระผม/อาตมภาพท่องมาจากตำราพิชัยสงครามโบราณนี้ แม้แต่น้องเล็กก็ยังถามว่า "แล้วหลวงพ่อไปเอามาจากไหน ?" กระผม/อาตมภาพบอกว่า ตนเองอ่านหนังสือหมดห้องสมุดไปตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ ๒ พอขึ้นชั้นประถมปีที่ ๕ เปลี่ยนโรงเรียนใหม่ ก็อ่านหมดไปอีกหนึ่งห้องสมุด พอขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ เปลี่ยนโรงเรียนใหม่ ก็อ่านหมดไปอีกหนึ่งห้องสมุด..!

    ดังนั้น..ตำราเก่า ๆ บางอย่างที่จดจำเอาไว้ แต่เด็กรุ่นหลังไม่ได้ร่ำเรียน ก็ทำให้ไม่มีปรากฏขึ้นในอินเตอร์เน็ต ขณะเดียวกัน คนที่รู้และจำได้ก็มีน้อยลงไปเรื่อย ๆ ส่วนใหญ่ก็อายุมาก ล่วงลับดับขันธ์ไปตาม ๆ กัน ดังที่โบราณกล่าวเอาไว้ว่า ของกินถ้าไม่กินก็เน่า เรื่องเล่าถ้าไม่เล่าก็ลืม วันนี้กระผม/อาตมภาพจึงนำเอามาบอกกล่าวเอาไว้ เพื่อที่ให้คนรุ่นหลังได้ยินได้ฟัง และอาจจะค้นคว้าจากอินเตอร์เน็ตได้ในอนาคต

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันเสาร์ที่ ๒๓ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...