พระราชมุนีโฮมก็บุกป่าฝ่าดงครั้งแล้วครั้งเล่าไปขอรับการชี้แนะจากหลวงปู่มั่น ฉะนั้นหากจะนับศิษย์หลวงปู่มั่นก็จึงมิอาจข้ามนามพระราชมุนีรูปนี้ไปได้เลย คุณทองทิว สุวรรณทัต เล่าไว้ในหนังสือโลกทิพย์ ฉบับที่ 36 ปีที่ 3 เดือน ก.ค. ปี พ.ศ. 2527 ว่า ระหว่าง พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เดินทางเข้า กทม. และพำนักอยู่ที่วัดปทุมวนาราม เมื่อ พ.ศ. 2468 นั้น คืนหนึ่งขณะท่านเดินจงกรมอยู่บริเวณข้างสระน้ำวัดปทุมวนารามนั่นเอง มีสามเณรน้อยรูปหนึ่งยืนแฝงตัวอยู่ในความมืดจ้องมองท่านอยู่ด้วยความสงสัยว่า พระรูปนี้กำลังทำอะไรอยู่ ทำไมท่านถึงมาเดินกลับไปกลับมาในยามค่ำคืนเช่นนั้นหนอ สามเณรน้อยเฝ้าสังเกตอยู่นานถึงสองชั่วโมง กระทั่งหลวงปู่มั่นออกจากทางจงกรม แต่แทนที่ท่านจะเดินตัดตรงไปตามถนนเพื่อเข้ากุฏิ กลับเลี้ยวเข้าไปยังจุดที่สามเณรรูปนั้นยืนอยู่แล้วถามขึ้นว่า “เณรมายืนดูฉันเดินอยู่ทำไม ชอบเดินอย่างนี้ไหม?” สามเณรพูดไม่ออก ได้แต่พนมมือคารวะ ท่านจึงมีเทศนาว่า “เณรเอ๋ย ร่างกายของเราก็เหมือนรถ ถ้าจอดทิ้งไว้เฉยๆ ก็รังแต่จะเกิดสนิม ที่เราต้องเดินจงกรมก็เพื่อเป็นการผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ ทำให้สุขภาพของเราดีขึ้น ภิกษุสามเณรสมควรอย่างยิ่งที่จะหัดเดินจงกรม ตามธรรมดาภิกษุสามเณรในจังหวัดพระนครมีเวลาออกกำลังน้อยเหลือเกิน ถ้ามีแต่นั่งและนอนมากก็จะทำให้สุขภาพเสื่อม มีโรคร้ายเบียดเบียน จะทำงานอย่างอื่นเพื่อเป็นการจรรโลงพระพุทธศาสนาทำได้ยาก ความเพียรรีบลงมือทำเสียแต่วันนี้ ใครเล่าจะรู้ว่า ความตายจะมาถึงเมื่อไหร่ ผู้ประมาทแล้ว อบายภูมิทั้ง 4 เปิดรับอยู่เสมอ เมื่อคนเข้าแดนอบายภูมิมีแต่ความทุกข์ยากเดือดร้อน เสียสิทธิเสรีภาพในการที่จะสร้างคุณงามความดี เพราะเวลาที่ล่วงเลยไปก็ไม่เป็นประโยชน์อันใด เรื่องบำเพ็ญกรรมฐานจึงเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง” กาลต่อมาสามเณรรูปนั้นได้บันทึกความทรงจำในค่ำคืนนั้นว่า “เมื่อท่านพูดจบแล้ว ข้าพเจ้าจึงทราบว่า ท่านที่พูดนั้นคือ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตะเถระ ข้าพเจ้าจึงก้มกราบที่เท้าท่านด้วยความเลื่อมใสอย่างยิ่ง แล้วนับถือท่านตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา” พระราชมุนีโฮม “ข้าพเจ้า” ซึ่งเป็นสามเณรวัย 16 ปี ในวันนั้นต่อมาเจริญธรรม เจริญชนม์ เจริญศักดิ์ เป็น พระราชมุนี อดีตผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดปทุมวนาราม พระราชมุนี (โฮม โสภณเถระ ป.ธ.6) มีนามเดิมว่า โฮม โพธิ์ศรีทอง เกิดเวลาประมาณ 11.30 น. วันพุธที่ 7 ก.พ. ปี พ.ศ. 2448 หรือวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 3 ปีมะเส็ง จ.ศ. 1267 เป็นบุตรคนที่ 3 จากทั้งหมด 5 คน ของ นายมุล และ นางสีกา โพธิ์ศรีทอง ชาวบ้านหมู่บ้านโนนทรายน้อย ต.บึงแก อ.มหาชนะชัย จ.อุบลราชธานี ในวัยเด็กท่านได้รับการอุปการะจากแม่ใหญ่อ้วน โพธิศรีทอง ซึ่งท่านก็ให้ความนับถือเสมือนมารดา ต่อมาได้ติดตามบิดาไปยัง จ.อุบลราชธานี โดยไปอยู่ในการอุปถัมภ์ของ ขุนประคุณคดี (ทองคำ ภาคบุตร) อัยการจังหวัดอุบลราชธานี โดยขุนประคุณคดีส่งเสียให้เรียนจบชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนวัดศรีทองหรือวัดศรีอุบลรัตนาราม พออายุ 16 ปี ท่านปรารถนาอยากจะบรรพชาและได้เป็นสามเณรสมความตั้งใจ เมื่อวันที่ 4 ก.พ. ปี พ.ศ. 2464 ที่วัดโนนทรายน้อย (วัดโชติการาม) โดยมี พระอธิการคูณ วัดบ้านบึงแก เป็นพระอุปัชฌายะ ในปี พ.ศ. 2467 ได้ย้ายไปเรียนธรรมวินัยที่วัดหอก่องศรีทองมณีวรรณ (วัดหอก่อง) และสามารถสอบนักธรรมชั้นตรีได้สำเร็จ เพราะเป็นผู้มีความวิริยอุตสาหะ มานะอดทน และตั้งใจศึกษาเล่าเรียน เป็นผู้ว่านอนสอนง่าย มีศีลาจารวัตรดี อัธยาศัยโอบอ้อมอารีต่อเพื่อนพรหมจรรย์ ฉลาดและเรียนเก่ง จึงเป็นที่รักของครูอาจารย์ เจ้าอาวาสวัดหอก่องจึงนำท่านเข้ามาฝากกับ ท่านเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถระ (หนู) เจ้าอาวาสวัดปทุมวนาราม เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมต่อใน กทม. เมื่อวันศุกร์ที่ 17 ก.พ. ปี พ.ศ. 2468 ปีนั้นเองที่ท่านได้พบกับหลวงปู่มั่นเป็นครั้งแรก หลังจากนั้นพระราชมุนีโฮมก็บุกป่าฝ่าดงครั้งแล้วครั้งเล่าไปขอรับการชี้แนะจากหลวงปู่มั่น ฉะนั้นหากจะนับศิษย์หลวงปู่มั่นก็จึงมิอาจข้ามนามพระราชมุนีรูปนี้ไปได้เลย น่าสนใจว่า ปีแรกที่ท่านมาอยู่ ณ วัดปทุมวนารามก็สอบได้นักธรรมโท ถัดไปอีก 2 ปี คือ พ.ศ. 2470 สอบได้นักธรรมเอก พ.ศ. 2472 สอบได้เปรียญธรรมประโยค 3 พ.ศ. 2477 สอบได้เปรียญ 4 พ.ศ. 2479 สอบได้เปรียญ 5 พ.ศ. 2481 สอบได้เปรียญ 6 แม้จะเดินสายปริยัติอย่างต่อเนื่อง แต่ขณะเดียวกันก็เดินสายปฏิบัติอย่างมิลดละ หลังพระอาจารย์มั่นคราวนั้น พระราชมุนีโฮมจะเดินทางไปกราบคารวะพระอาจารย์มั่นเพื่อรับการอบรมเรื่อยมา จนพระอาจารย์มั่นละขันธ์ เมื่อเดือน พ.ย. ปี พ.ศ. 2492 พระมหาถาวร จิตถาวโร หนึ่งในศิษย์ของพระราชมุนีโฮมเองก็เล่าถึงประสบการณ์ครั้งอยู่ร่วมกับพระอาจารย์ว่า แม้ท่านจะเป็นพระในเมืองกรุง แต่พระราชมุนีโฮมก็เป็นนักปฏิบัติ พระราชมุนีโฮมมิได้ปฏิบัติภาวนาอยู่แต่ในเมืองเท่านั้น หากพลิกหนังสือ “ทางสู่สันติ” หนังสืออนุสรณ์งานศพ พระครูอุดมธรรมคุณ (ทองสุก สุจิตโต) ศิษย์อีกรูปหนึ่งของพระอาจารย์มั่น ซึ่งเขียนโดย หลวงปู่วิริยังค์ สิรินธโร ก็จะพบว่า ครั้งหนึ่ง พระราชมุนีโฮมจาริกร่วมกับ พระอาจารย์ทองสุก และ สามเณรประมัย กาฬเนตร ผู้รจนา หนังสือ “ธัมมานุวัตต์” ไปไหนต่อไหนหลายแห่งตั้งแต่ท่านยังหนุ่มที่ดังปรากฏความว่า “พ.ศ. 2476...... ปีนี้ มหาทองสุก (ยังไม่ได้สมณศักดิ์) จึงเดินทาง (ธุดงค์) ร่วมกับ พระราชมุนี (มหาโฮม โสภโณ โพธิศรีทอง ป.ธ.6 ยังไม่ได้สมณศักดิ์) และ สามเณรประมัย นี้ แตกฉานในทางปฏิบัติมาก สามเณรจะเป็นผู้คอยแนะนำทางจิตอยู่เสมอ และพวกเราก็เชื่อถือสามเณรมาก ได้พักจำพรรษาที่บ้านหนองคาง จ.ประจวบคีรีขันธ์ มหาทองสุกได้ปรารภความเพียรเริ่มกัมมัฏฐานอย่างจริงจัง เมื่อสงสัยอะไรก็ได้สามเณรประมัย เป็นที่ปรึกษา...” ทบทวนย้อนหลังก็จะพบว่า พ.ศ. 2476 นั้น เป็นปีที่พระราชมุนีโฮมอายุ 28 ปี และเป็นมหาเปรียญ 3 ประโยคแล้ว ความในหนังสือ “ทางสู่สันติ” ตอนหนึ่งบอกถึงการพักจำพรรษาที่บ้านหนองคาง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ว่า หลวงปู่ทองสุก “ปรารภความเพียร เริ่มบำเพ็ญกัมมัฏฐานอย่างจริงจัง เมื่อสงสัยอะไรก็ได้สามเณรประมัยเป็นที่ปรึกษา...หลังจากที่จำพรรษาที่บ้านคางแล้ว ท่านเดินธุดงค์ จากนั้นเพื่อติดตามท่านพระอาจารย์ ‘มั่น ภูริทตฺตเถระ’ เรื่อยไป จากประจวบคีรีขันธ์ลงมา เขาเต่า ไปทางจังหวัดสุพรรณบุรี เดินผ่านดงไปจะไปอุตรดิตถ์ ไม่เคยเดินทางลัด ไปหลงอยู่ในดง ๓ วัน ไม่มีบ้านคนเลย นอนอยู่ในป่าใหญ่ มีแต่เสียงช้างเสียงเสือ...” ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ นี่เองที่วันหนึ่งท่านไปพบเชิงเขา ซึ่งมีถ้ำใหญ่และอากาศก็เย็นสบาย เหมาะแก่การพักแรมอยู่แห่งหนึ่ง พอปลงบริขารพักแรม นั่งสมาธิอยู่ที่ปากถ้ำ จิตดำเนิน|สู่สมาธิไปจนดึกจึงถอนออกมา พลันรู้สึกว่ามีใครมานั่งอยู่ข้างๆ พอหัน|กลับมาดูแล้วถึงกับตัวชาไปทั้งร่างราวถูกคนเอาน้ำเย็นราดตั้งแต่ศีรษะยันปลายเท้า เพราะเห็นเสือตัวใหญ่นั่งอยู่ห่างออกไปแค่สองศอก ท่านว่า เห็นดังนั้นแล้วได้แต่รีบกำหนดสติ กลับมาภาวนาพุทโธ แผ่เมตตา จนฟ้าสางถึงถอนออกจากสมาธิ ไม่เพียงแต่จาริกไปตามข้อมูลที่ปรากฏในประวัติพระมหาทองสุก ถ้าพลิกหนังสือ เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา หนังสือประวัติท่านพระพุทธทาส สัมภาษณ์ไว้โดย อดีตพระประชา ปสนฺนธมฺโม ก็จะพบว่า ครั้งหนึ่งสามเณรประมัยและพระราชมุนีโฮมจาริกไปถึงสวนโมกข์ อ.ไชยา จ.นครศรีธรรมราช ท่านพุทธทาส เล่าว่า ขณะสามเณรประมัยไปอยู่ที่สวนโมกข์นั้น เป็นช่วงที่ท่านกำลังมุ่งมั่นค้นคว้าพระไตรปิฎก และมิได้วางสัมพันธ์กับชาวบ้านเยี่ยงขนบเดิมๆ ที่คนเป็นสมภารทั้งหลายทำกันเลย ขณะนั้น “...มีพระอื่นมาเทศน์บ้างสักครั้งสองครั้ง พระสมุห์แช่มดูเหมือนจะเคยสักที อีกคนที่ชาวบ้านชอบคือสามเณรประมัยเทศน์หลายหน ชาวบ้านชอบมากกว่าผมอีก เขาพูดจาโผงผางดี ชัดเจนดี เรื่องๆ เดียวกันแต่เขาพูดน่าฟังกว่า เป็นเณรโตอายุมากแล้ว เขาธุดงค์มากับมหาโฮม รู้เรื่องสวนโมกข์จากหนังสือพิมพ์พุทธศาสนา เขาธุดงค์กันมา ตอนแรกคิดจะสร้างวัดป่าแบบป่าช้าที่ประจวบฯ แต่ไม่สำเร็จ จึงเลยมาที่นี่ มหาโฮมอยู่ราว ๒ เดือนก็กลับ ...” ท่านพุทธทาสเล่าเรื่องพระราชมุนีโฮมในช่วงวัย 28 ปี ไว้ว่า “มหาโฮมเขาทำสมาธิ สนใจเรื่องผี คุยกันว่าที่บ้านแกเต็มไปด้วยผี ประชาชนนับถือผีไม่รู้กี่ชนิดต่อกี่ชนิด ยุ่งยากไปหมดเกี่ยวกับเรื่องผี มาชวนผมไปปราบผี ต่อมากลับไปอยู่วัดสระปทุม ได้เป็นเจ้าคุณอะไร...” พระราชมุนีโฮมมิได้เดินปริยัติและปฏิบัติแต่เฉพาะในวัยหนุ่มเท่านั้น พระมหาถาวรเล่าภาพที่ปรากฏต่อมาเมื่อยามที่ท่านเจริญวัย เจริญธรรม จนเป็นพระผู้ใหญ่แล้วว่า ปกติท่านจะเลิกจำวัดในเวลา 04.00 น. หลังเสร็จกิจส่วนตัวแล้วจะเริ่มสวดมนต์ไปกระทั่ง 6 โมงเช้า ไม่เพียงแต่ทำวัตรเช้า ช่วงทำวัตรเย็นท่านก็จะสวดมนต์ยาวมากด้วยเสียงดังฟังชัด ท่านว่า ที่ต้องสวดมนต์เช่นนี้ก็เพื่อให้ผู้ยังต้องการภพชาติที่เกิดอยู่ได้รับกระแสธรรมที่แผ่ไปอย่างไพศาล จะได้เป็นสุขๆ ตามที่พวกเขาปรารถนา พอตกค่ำราว 2 ทุ่ม พระราชมุนีโฮมมักจะชวนศิษย์ผู้สนใจปฏิบัติราว 3-4 รูป ออกเดินจากวัดปทุมวนารามไปเจริญสมาธิในป่าช้าวัดดอน ซึ่งยุคนั้นเงียบสงัดนัก เมื่อไปถึงป่าช้าวัดดอนท่านจะให้แยกย้ายกันออกไปภาวนาคนละมุม โดยท่านเจ้าคุณพระราชมุนีโฮมเองนั้น นอกจากจะเจริญกรรมฐานแล้วยังคอยควบคุมตรวจสอบวาระจิตของศิษย์ไปด้วย บางครั้งบางคราวก็ไปนั่งกันถึงป่าช้า จ.ชลบุรี ก็มี พระมหาถาวรเล่าว่า เจ้าคุณอาจารย์เดินจงกรมได้นานมาก เรียกว่าเดินทั้งคืนเพราะเริ่มตั้งแต่หัวค่ำยันรุ่ง ยากที่จะหาศิษย์หนุ่มๆ สมัยนั้นจะมีความมานะอดทนดังท่านได้เลย พระราชมุนีโฮมนั้น เป็นที่รู้จักคุ้นเคยกับหมู่คณะร่วมศิษย์พระอาจารย์มั่นอยู่หลายรูป หลากท่านเหล่านั้นมีกิจเข้ามาใน กทม. หากไม่พำนักที่วัดบรมนิวาสก็จะมาพักที่วัดปทุมวนาราม เช่น พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เป็นต้น ว่ากันว่า ท่านเจ้าคุณฯ เป็นช้างเผือกในเมือง ปกติท่านเป็นคนพูดน้อย ปฏิบัติมาก หากจะสั่งสอนศิษย์พออบรมกรรมฐานเสร็จก็สั่งให้ไปปฏิบัติเลย ท่านเป็นคนปราดเปรียว เดินเร็ว ทำอะไรว่องไว รักษาเวลา รักษาสัจจะ ไม่เคยกล่าวร้ายใคร กล่าวแต่ปิยวาจา อ่อนน้อมถ่อมตน และเป็นผู้ใคร่อยู่ในการบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานเป็นนิจ และเป็นผู้มีกตัญญูกตเวทิตาธรรมยิ่งนัก ในประการหลังนี้ นอกจากจะปฏิบัติตามคำสอนของพระอาจารย์มั่นแล้ว เมื่อพระอาจารย์มั่นมีชีวิตอยู่ท่านก็จะดั้นด้นไปสักการะทุกปีไม่มีขาด แม้สิ้นไปแล้วท่านก็ยังเดินทางไปสกลนครเพื่อสักการะอัฐิพระอาจารย์มั่นที่วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร ทุกปีไม่มีขาดเหมือนเดิม เหล่าบรรดาผู้มีอุปการคุณเคยเลี้ยงดูมาแต่หนหลังท่านก็ดูแลเช่นกัน พระมหาถาวรเล่าเรื่องแปลกๆ ของพระอาจารย์ท่านว่ามีหลายเรื่องนัก เช่น มีอยู่วันที่ลงทำวัตรด้วยกันแต่เช้า ระหว่างเดินคุยกันไปเบาๆ โดยท่านพระราชมุนีโฮมเดินนำหน้านั้น จู่ๆ ท่านกลับมองไม่เห็นตัวของเจ้าคุณอาจารย์เฉยๆ เสียอย่างนั้น จนต้องร้องถามว่า “หลวงพ่อหายไปไหนครับ” แล้ว ท่านเจ้าคุณก็ปรากฏกลายกลับมาเดินอยู่ในกิริยาเดิมโดยไม่ได้พูดอะไร บางหนระหว่างเดินๆ กันไปก็เห็นรูปกายของท่านค่อยๆ เปลี่ยนเป็นหลวงจีนบ้างก็มี พอถามว่า “เอ๊ะ หลวงพ่อทำไมกลายเป็นหลวงจีน” ท่านก็หันมายิ้มให้เฉยๆ ไม่ว่ากระไร ที่เห็นพร้อมกันหลายๆ รูปก็คือ หนหนึ่งมีกิจธุระพากันเดินทางไปภาคเหนือแล้วรถเสียอยู่กลางถนนแห่งหนึ่งที่ จ.พิษณุโลก ล้อรถตกหล่มจนเกือบมิดดุมล้อ เข็นกันจนสิ้นแรงและทำสารพัดหนทางอย่างไรก็ไม่ขึ้น จู่ๆ ท่านเจ้าคุณพระอาจารย์ก็เปรยว่า “ถ้าจะต้องนิมนต์หลวงพ่อยีมาช่วยเข็นรถเสียแล้ว” พระทุกรูปได้ยินดังนี้ก็ได้แต่มองตากันเพราะต่างก็ทราบว่า หลวงพ่อยี บ้านดงตาก้อนทอง ต.ไผ่ล้อม อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก ซึ่งเคยต้องอธิกรณ์แต่พระราชมุนีโฮมได้มาแก้ไขเหตุการณ์ให้จนสงบเรียบร้อยนั้นมรณภาพไปแล้ว พอเอ่ยปากถามว่า หลวงพ่อยีมรณภาพแล้ว หลวงพ่อจะนิมนต์มาช่วยพวกเราได้อย่างไร? เจ้าคุณพระอาจารย์ไม่ตอบ แต่ชี้มือไปข้างหน้าแล้วกล่าวขึ้นว่า “ดูเอาเองซี” พระมหาถาวร เล่าว่า ท่ามกลางแสงจันทร์นวลผ่องวันนั้นทุกคนเห็นพระภิกษุชรารูปร่างผ่ายผอม อายุราว 70 ปี ศีรษะค่อนข้างใหญ่ห่มจีวรสีคล้ำเดินมาตามถนนช้าๆ พอมาถึงตัวรถท่านก็โบกมือเหมือนบอกให้คนขับสตาร์ตเครื่อง พอใส่เกียร์รถก็ทะยานขึ้นจากหล่มทันที “ท่านมหาต้องปฏิบัติเองถึงจะรู้เห็นเอง” ท่านว่า พระราชมุนีโฮมเจริญชนม์มากระทั่งปี 2519 เดือน ต.ค.ปีนั้น ท่านอาพาธจนต้องเข้าโรงพยาบาล พอขอแพทย์กลับถึงวัด พระเณรได้เห็นท่านเดินช้าๆ ไปทั่ว ท่านดูโบสถ์ วิหาร ดูต้นไม้อย่างทั่วถึง จากนั้นมาอีกหลายวันก็ทรุดหนักฉันไม่ได้ พอถึงวันที่ 11 ต.ค. ท่านก็ลืมตาขึ้นแล้วบอกกับแพทย์ที่รุมล้อมอยู่ว่า “พรุ่งนี้อาตมาก็สบายแล้ว” รุ่งขั้น 12 ต.ค. ท่านก็ละสังขารไปในเวลา 09.25 น. สมดังกล่าวจริงๆ พระราชมุนี(โฮม โสภโณ)ช้างเผือกในอารามกลางกรุง
ช้างเผือกในเมืองยังมีที่ดำรงค์ธาตุขันธ์อยู่มีองค์ไหนบ้างครับ รบกวนท่านผู้รู้ช่วยบอกเอาบุญที จะได้ทำบุญกับเนื้อนาบุญจริงๆบ้างจ๊ะ ขอโมทนาบุญกับคุณaprin ในบทความที่เป็นประโยชน์ยิ่ง สาธุ
สาธุ อนุโมทนาครับ หากท่านใดมีโอกาสก็แวะไปกราบสักการะพระบรมสารีริกะาตุ และรุปเหมือน หลวงพ่อโฮมที่วัดปทุมวนารามนะครับ ขออนุโมทนาครับ