เรื่องเด่น ภาวนาปลุกจิตใต้สำนึก โดย หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย thanan, 25 ธันวาคม 2011.

  1. thanan

    thanan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 กันยายน 2004
    โพสต์:
    1,667
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +5,216
    ?temp_hash=7479d485e97937d8d551babd3e192f0d.jpg


    เทศน์อบรมครูผู้สอนวิชาพระพุทธศาสนา เขตการศึกษา ๑๑ ณ วัดวะภูแก้ว เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๔๑


    ท่านผู้เจริญทั้งหลาย อาตมะได้ฟังท่านผู้เป็นหัวหน้าได้กล่าวรายงานแล้ว รู้สึกซาบซึ้งในกุศลเจตนาของท่านทั้งหลายที่ตั้งอกตั้งใจจะมารับการอบรมธรรมะภาคปฎิบัติสมาธิ

    การปฏิบัติสมาธิเพื่อให้จิตของเราตั้งมั่นหรือมีความมั่นใจ การปฏิบัติสมาธิเป็นการปลุกจิตใต้สำนึกให้ตื่นขึ้นมา เมื่อเรามาปฏิบัติสมาธิด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งเช่น บริกรรมภาวนา เป็นต้น หรือการสวดมนต์ก็ดี ในเมื่อเราสวดซ้ำๆ ท่องคำใดคำหนึ่งซ้ำ ๆ อยู่ไม่ขาดสายด้วยความมีสติสัมปชัญญะ จะทำให้จิตใต้สำนึกของเราตื่นขึ้นมา

    คนเราทุกคนมีฤทธิ์ มีอิทธิพล มีอำนาจอยู่ในตัวเพราะเราเวียนว่ายตายเกิดมาหลายภพหลายชาติ ในชาติก่อน ๆ เราอาจจะเคยได้เป็นฤาษีบำเพ็ญฌานบำเพ็ญตบะมาแล้ว เราก็ไม่ทราบได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ฤทธิ์อิทธิพล และอำนาจที่เราเคยบำเพ็ญมาในภพก่อนชาติก่อน จิตใต้สำนึกของเราจะเป็นผู้เก็บบันทึกเอาไว้ แล้วจะติดไปกับจิตของเราทุกภพทุกชาติไม่ว่าเราจะไปเกิดในที่ใด ภพใด

    เมื่อจิตใต้สำนึกตื่นขึ้นมา มันมีลักษณะอย่างไร เราจะรู้สึกว่าจิตของเรานี่มีสติรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา ความเป็นผู้มีสติรู้ตัวตลอดเวลา ไม่ว่าเราจะขยับไปทางไหน ในจิตของเราก็มีสติสำทับอยู่ทุกขณะจิต เราก้าวเดิน สติก็มาทำหน้าที่ เรายืน สติก็มาทำหน้าที่ เรานั่ง สติก็มาทำหน้าที่ เรานอน สติก็มาทำหน้าที่ เรารับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด สติก็จะมาเตรียมพร้อมอยู่ทุกขณะจิตทุกลมหายใจ ในลักษณะอย่างนี้เรียกว่าจิตใต้สำนึกตื่นขึ้นมาแล้ว

    จิตใต้สำนึกที่ตื่นขึ้นมา มีสติสัมปชัญญะ รู้ เตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา จิตที่มีสติ เป็นจิตที่เป็นผู้รู้ ได้ชื่อว่าเป็นจิตพุทธะ ถ้าสติสัมปชัญญะสมาธิเข้มแข็ง จิตก็จะเป็นผู้ตื่น คือตื่นตัวเตรียมพร้อมที่จะรับสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมอยู่ตลอดเวลา เมื่อเป็นเช่นนั้น จิตก็มีความแกล้วกล้าอาจหาญชื่นบาน มีความยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่ภายในจิตตลอดเวลา จึงกลายเป็นจิตผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จิตผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน นักปราชญ์ท่านเรียกว่าจิตพุทธะ พุทธะที่เกิดขึ้นกับจิตของผู้ปฏิบัติสมาธิ ก็คือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน มาจากคำบาลีว่า พุทโธ พุทโธแปลว่าผู้รู้ พุทโธแปลว่าผู้ตื่น พุทโธแปลว่าผู้เบิกบาน

    เมื่อเรามีผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน อยู่ในจิตของเรา เป็นคุณธรรม คุณธรรมที่ทำจิตให้เป็นพุทธะ ทำจิตของเราให้เป็นพระพุทธเจ้า แต่พวกเราฟังคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วเรามาปฏิบัติตาม เราจึงได้ชื่อว่าเป็นพุทธสาวก คือสาวกผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ได้ทรงไว้ซึ่งคุณธรรม คือธรรมที่ทำจิตให้เป็นพุทธะ ในเมื่อทรงไว้ซึ่งความรู้สึกเช่นนั้น ก็ได้ชื่อว่ามีคุณธรรมอยู่ในจิต ผู้ที่มีคุณธรรมอยู่ในจิต เขาย่อมจะมีความรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดี ตั้งใจที่จะละความชั่วประพฤติความดี ทำจิตให้บริสุทธิ์สะอาดอยู่เสมอ นี่คือคุณสมบัติที่จะเกิดจากการฝึกสมาธิ

    ที่นี้การฝึกสมาธิก็มีหลายแบบหลายอย่าง ถึงแม้ว่าจะมีแบบอย่างต่างกัน ก็ต่างกันแต่หลักและวิธีการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำบริกรรมภาวนา มีพุทโธ สัมมาอรหัง ยุบหนอพองหนอ อันนี้เป็นความแตกต่างเฉพาะคำพูดแต่ในเมื่อปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติพุทโธ ก็พุทโธ ๆ ๆ ๆ ตลอดไป ผู้สัมมาอรหัง ก็สัมมาอรหัง ๆ ๆ ๆ ผู้ที่ยุบหนอพองหนอ ก็ยุบหนอพองหนอจนกระทั่งจิตสงบ อันนี้เป็นวิธีการบริกรรมภาวนา

    การปฏิบัติด้วยบริกรรมภาวนา เรายึดเอาคำพูดคำใดคำหนึ่ง ซึ่งเป็นคุณสมบัติของพระพุทธเจ้า สำหรับที่นี่ไม่ได้จำกัด แล้วแต่ใครมีความคล่อง ชำนิชำนาญมาแบบไหน ท่านผู้ใดชำนาญในการภาวนาพุทโธก็ว่าไป ท่านผู้ใดชำนาญในสัมมาอรหัง ก็สัมมาอรหังไป ท่านผู้ใดยุบหนอพองหนอ ก็ยุบหนอพองหนอไป ทั้ง ๓ อย่างนี้ เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิอย่างแท้จริง จะมีแนวโน้มเป็นอย่างเดียวกันหมด คือ จิตหยุดนิ่ง หยุดจนกระทั่งบริกรรมภาวนา แล้วจิตนิ่ง ว่าง สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน มีปีติ มีความสุข อันนี้ผลที่จะพึงเกิดขึ้นจากการบริกรรมภาวนาทั้ง ๓ อย่างนั้นแหละ มีผลเป็นอย่างเดียวกันหมด

    ทีนี้เมื่อบริกรรมภาวนาไป เมื่อจิตเกิดมีสมาธิ สงบจะมีอาการเคลิ้ม ๆ เหมือนจะง่วงนอน อย่าไปฝืน ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ จะหลับก็ให้หลับ ทีนี้เมื่อเคลิ้ม ๆ แล้ว จิตจะมีอาการวูบลงไป พอหยุดวูบแล้วนิ่ง ว่าง คำบริกรรมภาวนาหายไป ในช่วงนี้จิตจะแยกออกเป็น ๒ ทาง

    ทางหนึ่ง ถ้าสงบแบบฌานสมาบัติหรือสมาธิสมถะจิตจะสงบ นิ่ง ว่าง ๆ ๆ ๆ แล้วก็ละเอียดลึกลงไป ลึกลงไป จนกระทั่งรู้สึกว่าลมหายใจหายขาดไป ในที่สุดร่างกายก็หายไป ยังเหลือไว้แต่จิตดวงเดียว นิ่ง สว่างไสวอยู่ อันนี้เป็นสมาธิที่เป็นไปตามแนวทางแห่งฌานสมาบัติหรือเราเรียกว่า สมาธิสมถะ ทางภาษาบาลีเรียกว่าอารัมณูปนิชฌาน คือจิตสงบแล้วนิ่งรู้อยู่เฉพาะในจิตเพียงอย่างเดียว ความรู้อื่นไม่เกิดขึ้น เป็นสมาธิสมถะ

    แล้วอีกทางหนึ่ง เมื่อจิตหยุดนิ่ง ว่าง พอเกิดความสว่างขึ้นมานิดหน่อย หรือไม่สว่างก็ตาม ความคิดมันจะผุดขึ้นมา ๆ ๆ อย่างกับน้ำพุ เมื่อมีความเป็นเช่นนั้น ผู้ปฏิบัติอย่าไปเข้าใจว่าจิตฟุ้งซ่าน มันเป็นสมาธิที่มีวิตกวิจาร ความคิดเป็นตัววิตก สติที่รู้พร้อมอยู่ในขณะจิตนั้นเป็นวิจาร ตัวคิดก็คิดไป ตัวตามรู้ก็ตามรู้ไป ตัวคิดคือจิตปรุงแต่ง ตัวตามรู้ก็คือสติสัมปชัญญะ พอคิดปั๊บ รู้ปั๊บ คิดปั๊บรู้ปั๊บ หนัก ๆ เข้ากายเบาจิตเบา กายสงบจิตสงบ เกิดปีติ ความคิดเร็วขึ้น ๆ จนรั้งไม่อยู่ แต่ไม่ควรจะไประงับความคิดหรือไปห้ามความคิด ควรจะปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติของมัน ทีนี้ถ้าเราไม่หลงเข้าใจผิดว่าจิตฟุ้งซ่าน ปล่อยไปตามธรรมชาติของมัน หน้าที่ของเรามีแค่เพียงกำหนดสติตามรู้ไป ๆ ในที่สุดกายเบาจิตเบา กายสงบจิตสงบ ความสว่างเริ่มเกิดขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งในที่สุดจิตหยุดนิ่งปั๊บ สว่างไสว สภาวะอันเป็นความคิดก็จะแสดงอาการเกิดดับ เกิดดับ หรือมาวนรอบจิตอยู่ตลอดเวลา แต่จิตไม่ได้หวั่นไหวต่อเหตุการณ์นั้น ๆ ทรงอยู่ในสมาธิที่เที่ยง เป็นกลาง ไม่มีความยินดี ไม่มีความยินร้าย


    ในช่วงนี้คล้าย ๆ กับจิตกับอารมณ์แยกกันออกเป็นคนละส่วน เพราะจิตไม่มีความยึดมั่นถือมั่น อะไรเกิดขึ้นก็สักแต่ว่ารู้ เห็นอะไรก็สักแต่ว่าเห็น รู้เห็นแล้วก็ปล่อยวางไป ไม่ยึดไว้สร้างปัญหาให้ตัวเองเดือดร้อน ในลักษณะอย่างนี้เรียกว่าสมาธิแบบลักขณูปนิชฌานเป็นสมาธิที่เดินตามแนวทางแห่งวิปัสสนากรรมฐาน


    อันนี้ถ้าหากว่าจิตสงบเป็นสมาธิตามธรรมชาติของสมาธิ ทางเป็นไปของเขาทางใหญ่ ๆ จะมีเพียง ๒ ทางเท่านั้น

    และอีกประเด็นหนึ่ง ถ้าหากว่าจิตไม่เป็นไปตามทางที่กล่าวแล้ว เมื่อจิตสงบนิ่งว่างลงไปแล้ว ถ้ากระแสจิตออกนอก จะเกิดนิมิตซึ่งเรียกว่ามโนภาพ บางทีอาจจะเห็นภาพคน เทวดา อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ ภูตผีปีศาจ ในเมื่อรู้เห็นอย่างนั้น ให้กำหนดสติรู้ที่จิตอยู่เฉยๆ พยายามระวังอย่าให้เกิดเอะใจหรือตกใจ ถ้าเราสามารถประคองจิตของเราให้อยู่ในสภาพปกติ ไม่หวั่นไหว นิมิตภาพอันนั้นจะทรงอยู่ให้เราเพ่งมองดูได้นาน ๆ จนกระทั่งเป็นอุคคหนิมิต อุคคหนิมิต ภาพนิมิตเป็นภาพนิ่งไม่ไหวติง จิตก็สงบนิ่ง ไม่ไหวติง เป็นนิมิตติดตา ถ้าออกมาจากสมาธิแล้วบางทีก็ยังมองเห็นภาพนั้นอยู่ อันนี้เรียกว่าอุคคหนิมิต สมาธิที่ได้อุคคหนิมิต สมาธิเป็นสมถกรรมฐาน นิมิตเป็นอุคคหนิมิต

    แต่เมื่อจิตของเราเพ่งมองดูอุคคหนิมิตนาน ๆ ไป สติสัมปชัญญะแก่กล้า เป็นมหาสติ จิตสามารถที่จะขยายนิมิตให้ใหญ่โตขึ้น หรือย่อตัวให้เล็กลง หรือให้สลายตัวไปแล้วก็ตั้งขึ้นมาใหม่ ในลักษณะอย่างนี้ท่านเรียกว่าปฏิภาคนิมิต สมาธิเป็นสมาธิวิปัสสนา เพราะกำหนดหมายรู้ความเปลี่ยนแปลงของอารมณ์สิ่งรู้ ส่วนนิมิตที่มีอาการเปลี่ยนแปลงเป็นอารมณ์ของวิปัสสนา

    เพราะฉะนั้น สมาธิที่ได้อุคคหนิมิตเป็นสมาธิขั้นสมถะ สมาธิที่ได้ปฏิภาคนิมิตเป็นสมาธิขั้นวิปัสสนา อันนี้วิธีปฏิบัติต่อนิมิตที่บังเกิดขึ้น

    ในบางครั้ง ในเมื่อจิตสงบ นิ่ง ว่างลงไป บางทีจิตของเราอาจจะไปจับลมหายใจ แล้วก็ตามลมหายใจ ออก – เข้า ออก – เข้า อยู่อย่างนั้น จนกระทั่งบางครั้งรู้สึกว่าลมหายใจละเอียดลง เบาลง แผ่วลง ๆ ๆ ในตอนนี้ถ้าหากว่ากลัวมันจะเลยเถิด ถ้าลมหายใจจะหายให้นึกว่าลมหายใจยังอยู่ ที่นี้ถ้าหากว่าลมหายใจไม่หายขาดไป จิตของเราตามลมหายใจเข้าไปสงบ นิ่ง สว่าง อยู่ในท่ามกลางของร่างกาย สามารถที่จะเปล่งรัศมีความสว่างออกมารอบกาย แล้วก็รู้เห็นอวัยวะต่าง ๆ ภายในกาย ซึ่งเรียกว่ารู้อาการ ๓๒ รู้ ขน ผม เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก จะมองเห็นความสว่างไสวภายในกาย มองดูอวัยวะต่าง ๆ รู้สึกจะใสเหมือนแก้ว ในตอนนี้จิตของเราไปอยู่ในท่ามกลางของร่างกาย แล้วก็รู้อาการ ๓๒ เมื่อจิตสงบนิ่ง ละเอียด ละเอียดลงไป สิ่งรู้สิ่งเห็นก็ละเอียดลงไปตามด้วย แล้วในที่สุดจิตสงบ ละเอียด ปล่อยทิ้งอารมณ์เดิม ยังเหลือแต่จิตนิ่ง สว่างไสวอยู่ ร่างกายตัวตนหายไปหมด อารมณ์สิ่งรู้ก็หายไปหมด ถ้าหากว่าจิตของเราไปนิ่ง สว่างอยู่เฉย ๆ ไม่มีเหตุการณ์อันใดเกิดขึ้นในขณะนั้น สมาธิก็เป็นสมถกรรมฐาน

    แต่ในบางครั้ง ในเมื่อร่างกายตัวตนหายไป ยังเหลือแต่จิตสว่างไสว จิตอาจจะมาลอยเด่นอยู่เหนือร่างกาย มองลงมาเห็นร่างกายนอนตายเหยียดยาวอยู่แล้วก็ขึ้นอืด เน่าเปื่อยผุพังสลายตัวไปไม่มีอะไรเหลือ มันจะเป็นไปตามขั้นตอนของมัน พอตายแล้วก็ขึ้นอืด น้ำเหลืองไหล เนื้อหนังผุพังไปยังเหลือแต่โครงกระดูก โครงกระดูกก็หลุดออกจากกัน หักเป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่ แล้วก็แหลกละเอียดจมหายไปในผืนแผ่นดิน ยังเหลือแต่ความว่าง บางทีอาจจะเป็นย้อนไปย้อนมาอยู่หลายครั้งหลายหน ทั้งนี้แล้วแต่ความมั่นคงของสมาธิของท่านผู้ใด

    ในขณะนั้นจิตจะมีความนิ่งเฉย ไม่พูดไม่จา ไม่มีความคิด จิตของคนเราแม้ไม่มีร่างกายก็รู้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างได้ แต่คิดไม่เป็น ทำไมจึงคิดไม่เป็น เพราะไม่มีเครื่องมือ เพราะจิตทิ้งกายไปแล้วไม่มีเครื่องมือ คิดไม่เป็น แต่เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิ พอสัมพันธ์กับร่างกาย จิตจึงจะเกิดความรู้ขึ้นมาว่า นี้แหละคือความตายรู้เสีย ตายแล้วมันก็ขึ้นอืด เน่าเปื่อยผุพัง เนื้อหนังพังลงไปเป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครก ยังเหลือแต่โครงกระดูก โครงกระดูกก็แหลกละเอียดหายจมไปในผืนแผ่นดิน เพราะว่าร่างกายนี้ก็เป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ในเมื่อสลายตัวไปแล้วก็กลับไปสู่ที่เดิม คือ เป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ ตามเดิม ไหนเล่าสัตว์บุคคล ตัวตนเราเขา มีที่ไหน

    ถ้าหากว่าจิตของท่านผู้ใดเป็นอย่างนี้ จะได้ความรู้ได้กรรมฐานหลายอย่าง

    ๑. มรณัสสติ คือรู้ความตาย

    ๒. อสุภกรรมฐาน รู้ความปฏิกูลน่าเกลียดโสโครกของร่างกาย

    ๓. อัฐิกรรมฐาน

    ๔. ธาตุกรรมฐาน คือรู้เห็นว่าร่างกายเป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ไหนเล่าสัตว์บุคคล ตัวตนเราเขา มีที่ไหน อันนี้เป็นความรู้เรื่อง อนัตตานุปัสสนาญาณ จิตของเราเป็นเพียงครั้งเดียว ได้ทั้งสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน

    ในเมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว การปฏิบัติสมาธิคือการทำจิตให้มีสิ่งรู้ สติให้มีสิ่งระลึก จะเป็นอะไรก็ได้ ถ้าหากว่าท่านผู้ใดไม่นึกบริกรรมภาวนาอะไร ก็นั่งกำหนดจิตกำหนดสติรู้จิตเฉยอยู่ ไม่ต้องไปคิดไปนึกถึงอะไรทั้งสิ้น ถ้าจิตของเราอยู่ว่าง ๆ ก็ปล่อยให้ว่างไป ถ้าคิดขึ้นมาปั๊บ เรามีสติรู้ ถ้าคิดไม่หยุด เราปล่อยให้สติของเราตามรู้ไปๆ เหมือนอย่างที่กล่าวแล้วในลักขณูปนิชฌาน

    ทีนี้สำหรับท่านทั้งหลายที่เป็นครูบาอาจารย์ ท่านสามารถที่จะสอนสมาธิให้นักเรียนของท่านในห้องเรียนได้ โดยเมื่อท่านไปยืนหน้าห้อง ให้เตือนนักเรียนของท่านทุกคนในชั้นว่า นักเรียนทุกคน มองมาที่ตัวข้าพเจ้า ส่งจิตมารวมไว้ที่ตัวข้าพเจ้า นักเรียนบางคนอาจจะไม่เข้าใจคำว่าจิต ใช้คำว่าส่งใจมารวมไว้ที่ข้าพเจ้าก็ได้ ข้าพเจ้าจะถ่ายทอดพลังจิตและวิชาความรู้จากข้าพเจ้าอย่างตรงไปตรงมา มีอะไรก็สอนไปสอนไป แล้วก็เตือนไปเป็นระยะ ๆ เพราะว่าตามหลักธรรมชาติ ในขณะที่อาจารย์สอนลูกศิษย์ อาจารย์ย่อมจะสำรวมจิต รวมกำลังจิตวิชาความรู้จะถ่ายทอดให้ลูกศิษย์อย่างตรงไปตรงมา ถ้าหากว่าลูกศิษย์เอาใจใส่จดจ้อง ก็ได้รับการถ่ายทอดพลังจิตและวิชาความรู้จากอาจารย์อย่างตรงไปตรงมาเหมือนกัน อันนี้คือหลักธรรมชาติ เพราะฉะนั้น การปฏิบัติสมาธิ ไม่ว่าเราจะทำอะไร การทำ การพูด การคิด ถ้าเรามีสติตั้งใจกำหนดรู้อยู่ทุกระยะ ได้ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติสมาธิทั้งนั้น เอาละ ขอให้ธรรมะเป็นคติเตือนใจเพียงเท่านี้

    ก็เป็นอันว่า เปิดพิธีการอบรม ขอให้ทุก ๆ ท่านตั้งใจรับการอบรม ตั้งใจศึกษาให้มีความเข้าใจ แล้วให้ได้หลักการนำไปประพฤติปฏิบัติแล้วไปถ่ายทอด ให้ลูกศิษย์

    ในท้ายที่สุดนี้ ขอบารมีของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จงคุ้มครองท่านทั้งหลายให้มีความสุขกายสุขใจปรารถนาสิ่งใดขอให้สำเร็จตามใจที่ปรารถนา ในที่ทุกสถาน ตลอดกาลทุกเมื่อ เทอญ….
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • ลพพ.jpg
      ลพพ.jpg
      ขนาดไฟล์:
      56.9 KB
      เปิดดู:
      283
  2. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,358
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,119
    ค่าพลัง:
    +70,465
     

แชร์หน้านี้

Loading...