เรื่องเด่น ถาม-ตอบปัญหาธรรม (สติปัฏฐาน)...สุวัฒน์ พิทักษ์วงษ์

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย nondanun, 13 กุมภาพันธ์ 2014.

  1. nondanun

    nondanun เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    5,980
    กระทู้เรื่องเด่น:
    13
    ค่าพลัง:
    +32,612
    ถาม-ตอบปัญหาธรรม
    ( สติปัฏฐาน)


    ถาม-ตอบปัญหาธรรมะนี้ คัดมาจากหนังสือมนุษย์...เกิดมาทำไม (เล่ม ๔) ซึ่งรวบรวมและเรียบเรียงโดย คุณสุวัฒน์ พิทักษ์วงษ์


    คำถามที่ ๑

    ถาม : ทำไมจึงกล่าวว่า “มหาสติปัฏฐานเป็นทางสายเอก และอริยมรรคเป็นทางสายกลาง” ทางสายเอกและทางสายกลาง เกี่ยวข้องกันอย่างไร

    ตอบ : มหาสติปัฏฐาน คือทางสายเอก กล่าวคือเป็นทางสายสำคัญไม่เป็นสอง เป็นทางสายเดียวที่พ้นทุกข์ ส่วนอริยมรรคมีองค์ ๘ คือทางสายกลาง เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา มีทั้งศีล สมาธิ ปัญญา สำหรับสติปัฏฐาน เป็นตัวยืนทางสติที่เป็นไปในกาย เวทนา จิต และธรรม ส่วนอริยมรรค เวลาทำหน้าที่จะรวมตัวกันเป็นหนึ่ง เรียกว่า “มรรคสมังคี” เป็นทางพ้นทุกข์เช่นเดียวกัน


    คำถามที่ ๒

    ถาม : ที่พูดกันว่าปฏิบัติธรรมมีอานิสงส์มากกว่าทาน ศีล อยากทราบว่าการปฏิบัติธรรมนั้นคืออย่างไร

    ตอบ : การปฏิบัติธรรมคือการปฏิบัติ หรือกระทำเพื่อให้เกิดปัญญาเห็นแจ้งอันเป็นทางแห่งการพ้นทุกข์ เป็นการทำจิตให้บริสุทธิ์ ซึ่งเป็นระดับเหนือบุญทานและศีลความดีงามทั้งปวง มี ๒ แนวทางคือ

    ๑) สมถภาวนา หรือสมถกรรมฐาน หรือสมถยานิกก็เรียก คือการทำสมาธิ หรือความสงบใจให้มีขึ้นเพื่อข่มนิวรณ์ แล้วใช้สมาธินำปัญญาเพื่อเจริญสติรูปนามต่อไป

    สมถยานิกแบ่งออกเป็นสองประเภท คือประเภทปัญญาน้อย ท่านอรรถกถาจารย์ ท่านกล่าวว่า ควรปฏิบัติเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดูรูปหยาบ รู้อารมณ์ง่าย ส่วนประเภทปัญญากล้า ควรปฏิบัติเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

    ๒) วิปัสสนาภาวนา หรือวิปัสสนากรรมฐาน หรือวิปัสสนายานิกก็เรียก คือการเจริญสติเพื่อรู้แจ้งให้เกิดปัญญา รู้รูปนามเกิดดับ จนหมดความอยากความยึดถือในตัวตน อันเป็นทางแห่งความพ้นทุกข์โดยวิธีใช้ปัญญานำสมาธิ

    วิปัสสนายานิก แบ่งออกเป็นสองประเภท คือประเภทปัญญาน้อย ท่านให้เจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งมีอารมณ์ที่แยกออกไม่มากนัก ส่วนประเภทปัญญากล้าควรเจริญธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ที่มีอารมณ์แยกออกมาก เป็นทางหมดจดของเวไนยสัตว์ผู้เป็นวิปัสสนานิกประเภทมีปัญญากล้า

    การปฏิบัติธรรมที่ท่านแบ่งตามจริตของผู้ปฏิบัติเช่น คนจริต๖ (ราคะจริต โทสจริต โมหะจริต สัทธาจริต วิตกจริต และพุทธิจริต) ควรเลือกอารมณ์ที่เป็นสมถกรรมฐาน เช่นกรรมฐาน๔๐ ได้แก่ กสิน๑๐ อนุสติ๑๐ อสุภกรรมฐาน๑๐ พรหมวิหาร๔ อาหาเรปฏิกูลสัญญา๑ จตุธาตุวัตถาน๑ อรูปฌาน๔

    ส่วนจริตของผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน แบ่งจริตออกเป็นสองจริต คือ

    ๑) ตัณหาจริต ผู้มีโลภะ โทสะ โมหะมาก ควรเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
    ๒) ทิฏฐิจริต ผู้มีปัญญาชอบคิดมาก ชอบวิเคราะห์ วิตกวิจารณ์ชอบสงสัย ฟุ้งซ่าน ควรเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน และธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน โดยไม่ต้องทำสมถะก่อน

    สรุปว่า การปฏิบัติที่เหมาะสมจะใช้อารมณ์ใดให้เกิดสติบ่อยควรใช้อามรณ์นั้น เพราะทุนเดิมของแต่ละคนที่เคยทำมาแต่อดีตชาติ จะถนัดและชอบไม่เหมือนกันพึงสังเกตดูตัวเราเอง

    ข้อสังเกต สมถกรรมฐานมีอารมณ์ของสติปัฏฐานเป็นบัญญัติ คือสมมติสัจจะ ส่วนวิปัสสนากรรมฐานมีอารมณ์เป็นปรมัตถสัจจะ

    การเจริญสติปัฏฐาน ที่เป็นไปในฐานทั้งสี่ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม นั้นเป็นการตามรู้กาย เวทนา จิต ธรรม แต่ถ้าเมื่อใดสติได้พัฒนาขึ้น จะเกิดปัญญาญาณ คือรู้เท่า รู้ทัน และรู้ถูก


    คำถามที่ ๓

    ถาม : การเจริญวิปัสสนา จำเป็นต้องเดินจงกรมและนั่งสมาธิด้วยหรือไม่

    ตอบ : เดินจงกรมและนั่งสมาธิมีความจำเป็น แต่ต้องเป็นการเจริญสติเท่านั้น และต้องไม่ใช้การเพ่ง (ฌาน) จ้องหรือตั้งใจปฏิบัติเพื่อจะเอาอะไร

    สมาธิเป็นบาทหรือฐานของการเจริญสติเป็นไปตามอริยมรรคมีองค์ ๘ ที่เรียกว่ามรรคสังคีคือมรรคประชุมกันได้

    การเจริญสติที่เป็นไปในปัฏฐานทั้งสี่ นับว่ามีความสำคัญเป็นลำดับหนึ่ง การเดินจงกรมมีความสำคัญรองลงไป และการนั่งสมาธิมีความจำเป็นลำดับถัดไป การนั่งสมาธิไม่จำเป็นต้องหลับตา หรือไปทำที่ห้องปฏิบัติหรือห้องพระ แท้จริงการเจริญสติเป็นการปฏิบัติที่ทำได้ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งหลับ เจริญสติได้ทุกอิริยาบถเพราะใช้เพียงแค่ขณิกสมาธิเท่านั้น

    คำถามที่ ๔

    ถาม : การเจริญสติต้องไม่ใช่การเพ่งจ้อง หรือน้อมหรือตั้งใจเพื่อจะปฏิบัติ แม้แต่กำหนดก็ไม่ให้กำหนด แล้ววิธีที่ถูกต้องนั้นๆ คืออย่างไร

    ตอบ : ถ้าใช้คำว่ากำหนด ก็อย่าแปลความหมายว่าจะต้องทำ และจะทำเพื่ออะไรๆ แต่ให้ตีความหมายว่าให้ “สังเกต” ซึ่งตรงกับบาลีว่า “โยนิโสมนสิการ” คือการทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย ดูเบาๆ ด้วยจิตที่เป็นกลาง ไม่เคร่งตึงหรือหย่อนเกินไป ดูอยู่กับอารมณ์ที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ประดุจแลดูคมมีดที่จะเงื้อลงมาฟันคอตน ฉะนั้น


    คำถามที่ ๕

    ถาม : การเจริญวิปัสสนาหรือการเจริญสติ ทำอย่างไรจึงจะรู้ว่าได้ทำไปถูกต้อง หรือไม่ถูกต้องอย่างไร

    ตอบ : การเจริญสติไม่ใช่การกระทำแต่เป็นการ “รู้สึกตัวให้เป็น” ไม่เผลอสติ ไม่น้อมฉุดเข้าไปข้างหน้า (หาอนาคต) และไม่หน่วงฉุดออกมาข้างหลัง (จนเป็นอดีต) ให้รู้ตัวอยู่กับอารมณ์ปัจจุบัน ซึ่งปรากฏทางทวาร๖ ได้แก่ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจเท่านั้น ถ้าเผลอก็ให้รู้ว่าเผลอนั่นแหละ คือการรู้ตัวที่ถูกต้องแล้ว การน้อมหรือหน่วงเป็นความต้องการของกิเลสตัณหา
    ของหลวงปู่ดุลย์ อตุโล กล่าวไว้ว่า “คิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ ต่อเมื่อหยุดคิดได้จึงรู้ รู้แล้วก็เกิดปัญญา”

    หลวงพ่อเทียน กล่าวไว้ว่า “คิดเป็นหนู รู้เป็นแมว” (แมว : สติ) “อย่าเข้าไปอยู่ในความคิด รู้คิด ดูคิด ให้เห็นคิด เห็นแล้วคิดไม่ทุกข์” (เห็นแล้วคิดไม่ทุกข์ : โยนิโสมนสิการเป็น)

    รู้สึกตัวเป็นนั่นแหละคือ การรู้จักโยนิโสมนสิการ เป็นการเจริญสติแล้ว เมื่อมีสติรู้รูปนามเกิดดับ ก็เป็นการเจริญวิปัสสนา


    คำถามที่ ๖

    ถาม : จะทำให้สติเกิดต่อเนื่องนานๆ ได้อย่างไร เพื่อจะพัฒนาจิตให้ก้าวหน้า และจากประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติ โดยทั่วไปในปัจจุบันนี้ มีข้อสังเกตควรแนะนำอย่างไรบ้าง

    ตอบ : จะทำสติให้เกิดต่อเนื่องไม่ได้ เพราะธรรมทั้งหลายพระพุทธองค์ตรัสว่าเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ สติจะเกิดหรือไม่นั้นก็เป็นไปตามที่จิตจะสั่ง จิตจะเป็นผู้กำหนด และเมื่อสติเกิดแล้วก็เกิดได้ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งเกิดได้ทีละ ๗ ขณะจิตเท่านั้น (เพียงลัดนิ้วมือเดียว หรือ ๑ วินาทีจิตเกิดดับได้หนึ่งแสนโกฏิขณะจิต หรือเท่ากับหนึ่งล้านล้านครั้ง) มิใช่ตามที่เราอยากให้เกิด

    ผู้ปฏิบัติมีหน้าที่เพียรพยายามเฝ้าดู เฝ้าสังเกต ตามดู ตามรู้รูปนาม (รู้ตาม-รู้เท่า-รู้ทัน-รู้ถูก) ไม่ต้องไปจงใจสร้างหรือตั้งใจทำ ไม่ต้องไปคิดจะพัฒนาจิต เพราะจิตเกิด-ดับเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน บังคับบัญชาไม่ได้ ให้พยายามฝึกใจ ระลึกรู้อยู่กับอารมณ์ที่เป็นกุศลเป็นปัจจุบันอยู่เป็นนิตย์ จะคิดพูดและทำแต่สิ่งที่ดีๆ มองโลกในแง่ดี หมั่นเฝ้าสังเกตเรียนรู้รูปนามอยู่เนืองๆ แต่ไม่ใช่การเฝ้าแบบเพ่งหรือจ้อง หรือไปกำหนด ไปบริกรรม ไปสร้างอิริยาบถขึ้นมา ให้เฝ้าดูเหมือนดูละคร อย่าไปหัดละครหรือเล่นละครเสียเอง


    คำถามที่ ๗

    ถาม : เคยเจริญสติแล้วแต่ยังละกิเลสไม่ได้จะมีประโยชน์อะไร

    ตอบ : ถ้าเจริญสติปุ๊บ ละกิเลสได้ปั๊บ ! ก็คงเป็นพระอริยบุคคลและพระอรหันต์กันไปหมดแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเพียรมาถึงสี่ อสงไขย แสนมหากัลป์ นานเท่าไหร่คำนวณได้หรือไม่นับแต่พระโพธิสัตว์ “สุเมธดาบส” สมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทีปังกร พุทธวงศ์ที่ ๑ ล่วงมากระทั่ง ๒๓ พุทธันดร จนถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโคตมะ พุทธวงศ์ที่ ๒๕ จึงตรัสรู้

    เพราะฉะนั้นจึงควรเพียร (สัมมาวายามะ) มีวิริยะเจตสิกให้มากๆ การเจริญสติเปรียบเหมือนเอากุศลเข้าไปนั่งอยู่ที่ใจ ถ้ามีสติกุศลก็เกิด อกุศลก็เข้าไม่ได้ เมื่อกุศลเกิดมากๆ เข้าก็จะค่อยๆ ล้างอนุสัยกิเลสที่นอนอยู่ในขันธสันดาน และอนุสัยกิเลส ค่อยๆ อ่อนกำลังลงเรื่อยๆ จิตจะคุ้นเคยกับความมีสติ สติก็จะเกิดได้บ่อยๆ ขึ้น แล้วธรรมฝ่ายดีทั้งหลายก็จะเกิดตามมา

    ข้อคำนึง ต้องรู้สึกตัวให้เป็น เฝ้าระลึกรู้อยู่กับอารมณ์ปัจจุบัน ที่เกิดทางทวารทั้ง ๖ ได้แก่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งเกิดทีละทวาร ที่กล่าวว่าเจริญสติแล้วยังละกิเลสไม่ได้ นั่นเป็นเพราะยังรู้สึกตัวไม่เป็น ถ้ารู้สึกไม่เป็นก็ละกิเลสไม่ได้ ถ้ารู้สึกตัวเป็นกุศลก็เกิด กิเลสจะเกิดไม่ได้

    “ปฏิบัติยาก ไม่ใช่ปฏิบัติไม่ได้...หนทางแสนไกล...จะไปถึงได้ด้วยการเริ่มต้น จากการก้าวทีละก้าว ยากก็ทำไปง่ายก็ทำไป...แล้วจะสำเร็จเอง”


    คำถามที่ ๘

    ถาม : มีบางครั้งเกิดความโกรธ พยายามทำความรู้ตัวว่าโกรธ แต่ไม่หายโกรธเป็นเพราะอะไร

    ตอบ : เพราะยังทำความ “รู้สึกตัว” ไม่เป็น ต้องรู้สึกตัวให้เป็น ขณะใดที่รู้สึกตัวเป็นแล้วสติเกิดขึ้น รู้ทันสภาวะของความโกรธ เมื่อสติรู้ทันจิตจะเกิดเป็นกุศลทันที เมื่อจิตเกิดกุศลความโกรธที่เป็นอกุศลก็เกิดไม่ได้ ความโกรธจะตั้งอยู่ไม่ได้เลย

    ถ้าจงใจสร้างสติเพื่อดับความโกรธ จิตจะหนักเพราะจิตมีภาระในการสร้างสติ นั่นไม่ใช่ตัวสติแต่เป็นกิเลสที่อยากให้สติเกิด เป็นการเพ่งจ้องด้วยความหวังจะให้ความโกรธมันดับก็เกิดโทสะ เป็นความโกรธซ้อนขึ้นมาอีก จึงดูอย่างไรความโกรธก็ไม่ดับสักที

    ถ้าเจริญสติยังไม่ชำนาญ ให้กำหนดสมาธิเข้ามาภายในตัว เปรียบเหมือนหลบเข้าหลุมหลบภัยไว้ก่อนแล้วจึงเจริญสติต่อไป แผ่เมตตา กรุณาให้เขา ถ้าเขาได้ดีก็เจริญมุทิตา แต่ถ้าช่วยเขาไม่ได้ก็ให้วางอุเบกขา ทำใจให้เป็นกลางๆ นึกถึงอกเขาอกเรา คนเราทุกคนจะให้เป็นไปดังใจปรารถนาไม่ได้ แต่ละคนก็มีกรรมเป็นของตนทั้งสิ้น

    หมั่นพิจารณาให้เห็นโทษของความโกรธ ที่จะสามารถให้ล่วงละเมิดศีลข้อต่างๆ และอกุศลได้อีกมาก อีกทั้งโทสะจะเผากุศลจิต เจตสิกฝ่ายดีที่มีทั้งหมด ถ้าเปรียบความโกรธคือไฟ ลองสังเกตดูไฟที่หัวไม้ขีด ก็ลุกไหม้เผาตัวเอง พอเผาหมดแล้วจึงค่อยๆ มอดดับไป ถ้ารู้ตัวได้เร็วความโกรธก็ดับได้เร็ว

    โทษแห่งความโกรธพระไตรปิฎกได้แสดงไว้ในจตุตถปัณณาสก์มหาวรรค พระพุทธองค์ตรัสตอบพระนางมัลลิกา ผู้กราบทูลถามปัญหา ๔ ข้อ โดยทรงชี้แจงว่า

    ๑) มาตุคามผู้มักโกรธ ไม่ให้ทาน มีใจริษยา จะเป็นผู้มีรูปทรามและยากจน มีศักดิ์น้อย

    ๒) มาตุคามผู้มักโกรธ แต่ให้ทาน ไม่มีใจริษยา จะเป็นผู้มีรูปทราม แต่มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีศักดิ์ใหญ่

    ๓) มาตุคามผู้ไม่มักโกรธ แต่ไม่ให้ทาน มีใจริษยา จะเป็นผู้มีรูปงาม แต่ยากจนมีศักดิ์น้อย

    ๔) มาตุคามผู้ไม่มักโกรธ ทั้งให้ทานและมีใจไม่ริษยา จะเป็นผู้มีรูปงาม มั่งคั่งมีทรัพย์มาก มีศักดิ์ใหญ่

    พระนางมัลลิกากราบทูล ชะรอยพระนางจะเป็นคนขี้โกรธในชาติอื่น จึงมีรูปทราม ชะรอยจะเคยถวายทานจึงมั่งคั่ง และชะรอยจะไม่มีใจริษยาจึงมีศักดิ์ใหญ่เหนือหญิงทั้งปวงในราชสกุล แล้วทรงพระประสงค์ว่า จะไม่มักโกรธ ทั้งจะถวายทาน และไม่มีใจริษยาตั้งแต่วันนี้ไป

    “ถ้ามีสติรู้ตัวอยู่ตลอดเวลาแล้ว ไม่สามารถที่จะหลงไปตามมารยาของจิตได้ อันนั้นแหละสามารถระงับความโกรธ ความโลภ ความหลงได้”

    มาฆสูตร “ผู้ฆ่าความโกรธได้ ย่อมอยู่เป็นสุข”
    โกธนาสูตร “ผู้ฝึกฝนตนแล้ว ย่อมละความโกรธได้ พึงดับความโกรธด้วยปัญญา”


    คำถามที่ ๙

    ถาม : การเจริญสติปัฏฐานมี ๔ ปัฏฐาน เราควรเจริญสติปัฏฐานไหนก่อนจึงจะดี หรือจัดปัฏฐานใดก่อนหลัง จึงจะเกิดผลดีและจะทำอย่างไรจึงจะเห็นไตรลักษณ์ได้

    ตอบ : การเจริญสติมิใช่เป็นเรื่องของการจัดแจงจัดลำดับ หรือไปบงการจะให้สติเกิดฐานนั้นฐานนี้ ไม่ถูกต้อง และสติจะเกิดเมื่อไหร่หามีผู้ใดบังคับหาได้ไม่ สติเขาจะเกิดเขาก็เกิดของเขาเอง เราเพียงมีหน้าที่ตามดู ตามรู้ทางทวารทั้ง ๖ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ อารมณ์ใดชัดมากก็ให้ตามรู้ ตามดูอารมณ์นั้นๆ เขาจะเวียนไปเวียนมา ปัฏฐานไหนเราก็เจริญสติไปตามที่จะระลึกได้ อย่าเข้าไปจัดแจง เราเปรียบเหมือนดั่งเช่นผู้ดูละคร หาได้เป็นผู้เล่นละครไม่

    ส่วนการเห็นไตรลักษณ์ จะต้องทำอย่างไรนั้น การเห็นรูปนามก็คือ การเห็นการเกิดการดับ เพราะรูปนามเกิดดับอยู่แล้วตลอดเวลา เมื่อมีปัญญาเข้าไปเห็นรูปนาม เห็นความเกิดดับ นั่นแหละเรียกว่าได้เห็นไตรลักษณ์แล้ว

    “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นของไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์ (คือทนอยู่ไม่ได้) สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นไม่ใช่ตัวตน สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา เราไม่ได้เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ข้อนี้ท่านทั้งหลาย พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้”

    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยะสาวกผู้ได้สดับ เมื่อเห็นอย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายในตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อเบื่อหน่ายก็คลายกำหนัด (หมายถึงความติดใจ) เพราะคลายความกำหนัดก็หลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้วก็มีญาณรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว เธอย่อมรู้ว่าชาติ (ความเกิดสิ้นแล้ว) พรหมจรรย์ (ประพฤติเหมือนพรหมคือไม่ครองเรือน) ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ (เพื่อมาเกิดอีก) ไม่มี”


    คำถามที่ ๑๐

    ถาม : เมื่อเราปฏิบัติมากๆ เข้า สภาวะของสติและปัญญา ตลอดจนจิตใจจะมีการพัฒนาเจริญก้าวหน้าอย่างไร

    ตอบ : สติที่เคยเกิดน้อยหรือนานๆ ครั้ง แต่เมื่อหมั่นเพียรตามรู้กายตามรู้ใจ (รู้รูป-รู้นาม) เนืองๆ จนจิตรู้สภาวธรรมได้มากและแม่นยำแล้วสติก็จะเกิดเร็วขึ้น ความเผลอก็จะสั้นลงไปเรื่อยๆ สติในเบื้องต้นจะรู้ได้แต่อารมณ์หยาบ เบื้องกลางจะรู้อารมณ์ได้ละเอียดขึ้นเป็นไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จนถึงเบื้องปลายจะเกิดปัญญา รู้แจ้งอริยสัจ รู้รูปรู้นาม หรือขันธ์เป็นทุกข์ จิตจะหลุดพ้นจากขันธ์หรือทุกข์ จิตลอยอยู่เหนือกองทุกข์เป็นนิพพาน

    ที่มา::
     
  2. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,318
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,113
    ค่าพลัง:
    +70,460
    ?temp_hash=aa5af0fac618fd24924a000ee822e1f7.jpg
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • 5548648.jpg
      5548648.jpg
      ขนาดไฟล์:
      34.5 KB
      เปิดดู:
      154

แชร์หน้านี้

Loading...