เรื่องเด่น ธรรมบรรยายในโครงการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานสำหรับนิสิตระดับบัณฑิตศึกษาและประชาชนทั่วไป

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 19 มีนาคม 2022.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,652
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,549
    ค่าพลัง:
    +26,387
    ธรรมบรรยายใน "โครงการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานสำหรับนิสิตระดับบัณฑิตศึกษาและประชาชนทั่วไป"



    วันเสาร์ที่ ๑๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ เวลา ๑๓.๐๐ น.
    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เจ้าอาวาสวัดท่าขนุน เจ้าสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดกาญจนบุรีแห่งที่ ๒๓ (วัดท่าขนุน) พระวิปัสสนาจารย์ประจำกองการวิปัสสนาธุระแห่งประเทศไทย บรรยายธรรมในโครงการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานสำหรับนิสิตระดับบัณฑิตศึกษาและประชาชนทั่วไป ณ สถาบันวิปัสสนาธุระ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ถนนพหลโยธิน ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • 500481.jpg
      500481.jpg
      ขนาดไฟล์:
      78.1 KB
      เปิดดู:
      54
  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,652
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,549
    ค่าพลัง:
    +26,387
    ขอโอกาสคณะครูบาอาจารย์ ตลอดจนกระทั่งนิสิตฝ่ายบรรพชิตทุกรูป และขอเจริญพรคณะครูบาอาจารย์และนิสิต ตลอดจนกระทั่งผู้สนใจเข้าร่วมฟังการบรรยายในวันนี้ฝ่ายคฤหัสถ์ทุกท่าน
    กระผม/อาตมภาพ พระครูวิลาศกาญจนธรรม ต้องบอกว่าตำแหน่งหน้าที่มากจนตนเองก็จำไม่หมด ราว ๆ ๓๐ ตำแหน่ง คราวนี้บางคนก็ถามว่า "อาจารย์มีตำแหน่งเยอะขนาดนั้น ทำงานไหวได้อย่างไร ?" ก็ต้องบอกว่า "อยู่ได้ด้วยกรรมฐาน"

    คำว่ากรรมฐาน ในที่นี้ก็คืออานาปานสติที่ท่านทั้งหลายสนใจนั่นแหละ แต่คราวนี้การที่เราจะไปถึงในระดับใช้กรรมฐานในชีวิตประจำวันได้ ต้องเริ่มจากพื้นฐานก่อน ไม่ใช่ว่าอยู่ ๆ ก็กระโดดขึ้นมาเองแล้วจะเป็นเลย
    พระภิกษุในพระพุทธศาสนาไม่ใช่ผู้วิเศษ ไม่สามารถเสกทุกท่านให้สำเร็จมรรคผล หรือว่าบรรลุในสิ่งต่าง ๆ ได้ แต่ว่าทุกอย่างต้องเป็นไปโดยความพากเพียรพยายามของท่านเอง แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า อักขาตาโร ตถาคตา แม้ตถาคตก็เป็นเพียงผู้บอกเท่านั้น

    ตรงจุดนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราบอกขั้นตอนการปฏิบัติธรรมไว้แล้วทุกอย่าง เพียงแต่ว่าพวกเราในปัจจุบันมักจะใจร้อน ใจเร็ว ปฏิบัติธรรม ๓ วัน อยากจะบรรลุเลย หรือไม่ก็ภาวนา ๑ ชั่วโมง อยากจะได้นั่น อยากจะสำเร็จนี่ ซึ่งเป็นไปไม่ได้

    บรรดาท่านทั้งหลายที่เป็นอุคฆฏิตัญญูบุคคล ฟังเทศน์ครั้งเดียวแล้วบรรลุมรรคผลเลย กระผม/อาตมภาพเชื่อว่าพระพุทธเจ้านำไปพระนิพพานหมดแล้ว พวกเราอย่างเก่งก็อยู่ในระดับวิปจิตัญญู ก็คือต้องอธิบายขยายความ หรือว่าเป็นเนยยะ ต้องจ้ำจี้จ้ำไช ย้ำแล้วย้ำอีก ปากเปียกปากแฉะอยู่ทุกวัน ไม่เช่นนั้นแล้วโอกาสที่จะเข้าถึงก็ยาก


    โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันนี้ กระแสการบริโภค หรือว่ากระแสสื่อโซเชียลต่าง ๆ ดึงเราให้ห่างไกลจากความดีได้ง่ายที่สุด สิ่งที่จะรั้งเราเอาไว้กับความดีได้ก็คืออานาปานสตินี่เอง
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,652
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,549
    ค่าพลัง:
    +26,387
    คำว่าอานาปานสติ แปลเป็นไทยง่าย ๆ ว่าสติที่ไปในลมหายใจเข้าออก อานะ, อาปานะ รวมกันแล้วเป็น อานาปานะ ก็คือหายใจเข้าและออก ถ้าเราสามารถเอาสติไว้กับลมหายใจเข้าออกในปัจจุบัน ไม่คิดฟุ้งซ่านไปไหน เราก็จะเป็นผู้ที่มีความทุกข์น้อย

    กระผม/อาตมภาพก็เหมือนกับท่านทั้งหลาย ก่อนหน้านี้ก็เป็นคนขี้กลัว ขี้กังวล หวาดระแวง เครียดง่าย แต่หลังจากที่มาปฏิบัติธรรมไปจนถึงระดับหนึ่งด้วยความพากเพียรไม่ท้อถอยแล้ว ปัจจุบันนี้ความกลัวไม่ทราบว่าหายไปไหน ยิ่งถ้าหากว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามธรรมตามวินัยแล้ว ถ้าใครทำผิดอยู่ตรงหน้า พร้อมที่จะพุ่งชนโดยไม่กลัวใครเลย ความขี้กังวล ถึงเวลาจะเกิดเรื่องอะไรขึ้น ก็คิดไป ๓ วัน ๓ คืนนอนไม่หลับ ตอนนี้มีอยู่อย่างเดียวก็คือหลับแล้วไม่ค่อยจะตื่น..!

    เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ที่เปลี่ยนแปลงขึ้นมาได้ก็เพราะการปฏิบัติธรรม ซึ่งการปฏิบัติธรรมนั้น พวกเราทุกคนก็จะนึกถึงภาพการนั่งสมาธิ การภาวนา พุทโธ..พุทโธ หรือว่า พองหนอ..ยุบหนอ แต่โดยหลัก ๆ แล้วก็คือ การกำหนดสติอยู่กับลมหายใจเข้าออกนั่นเอง

    พระพุทธเจ้าของเราให้ขั้นตอนเอาไว้เป็นลำดับไปตั้งแต่ต้น ก็คือสัมมาทิฐิ เราจะต้องเห็นว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นของดี ควรที่จะปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ของตนเอง ทั้งในปัจจุบัน ทั้งในอนาคต และถ้าหากว่าบุญพาวาสนาช่วย เข้าถึงประโยชน์สูงสุดคือพระนิพพานได้ สามารถหลุดพ้นจากกองทุกข์ได้ก็ยิ่งดี

    ข้อต่อไปคือ สัมมาสังกัปปะ ต้องเป็นผู้มีดำริ คือความคิดที่ถูกต้อง อย่างเช่นว่า เราคิดจะออกจากกาม คิดอยากจะพ้นจากความทุกข์ เราจึงต้องตั้งหน้าตั้งตามาพากเพียรพยายามกระทำกัน

    คราวนี้จากความคิดซึ่งเป็นเรื่องของใจ ก็จะออกมาเป็นกายกับวาจา ก็คือต้องตั้งหน้าตั้งตารักษาศีล ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายยังคงเที่ยวเตร่เฮฮา ยังกินเหล้าเมายา ต้องอาศัยแสงสีเสียงต่าง ๆ ในการกระตุ้นตนเองให้มีความสุข จนกระทั่งบางทีก็ก่อความทุกข์ให้อย่างถนัดใจ

    อย่างเรื่องราวที่ท่านทั้งหลายได้ข่าวจากสื่อต่าง ๆ ทุกวันนี้ก็ยังวิพากษ์วิจารณ์ไม่จบ ว่าเรื่องของความสนุกชั่วคราว แต่ไปทำเอาคนตกน้ำตาย เดือดร้อนกันไปหมด จนป่านนี้เรื่องก็ยังไม่จบลง สาเหตุทั้งหลายเหล่านั้นเกิดจากการขาดศีล ไม่มีการควบคุมกายวาจาของตนให้อยู่ในกรอบของความดี
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,652
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,549
    ค่าพลัง:
    +26,387
    พระพุทธเจ้าทรงกำหนดหลักของศีลทั้งหลายเหล่านี้ขึ้นมาตามความต้องการปกติของคน ดังนั้น...ศีลในความหมายหนึ่งจึงแปลว่า ความปกติ ก็คือ
    ปกติคนเราไม่อยากให้ใครมาฆ่าเรา เราก็ไม่ควรที่จะไปฆ่าใคร ไม่ควรไปทำร้ายใคร

    ไม่อยากให้ใครมาลักขโมย หยิบฉวยช่วงชิงสิ่งของของเรา เราก็ไม่ควรที่จะไปลักขโมย หยิบฉวยช่วงชิงสิ่งของของใคร

    ไม่ต้องการให้เขามาแย่งคนที่รัก ของที่รักของเรา เราก็ไม่ควรที่จะไปแย่งคนรักของรักของใคร
    ต้องการฟังแต่ความสัตย์ความจริง เราก็ไม่ควรที่จะโกหกมดเท็จใคร

    ต้องการเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ก็ไม่ควรที่จะไปกินเหล้าเมายา เสพยาเสพติด เป็นต้น
    อย่าคิดว่านี่เป็นของง่าย กระผม/อาตมภาพมั่นใจว่าคนไทยทั้งหมด ๖๗ ล้านคน ยอดตัวเลขนี้กรมการปกครองเพิ่งจะยืนยันมาเอง ที่มีศีล ๕ ครบถ้วนจริง ๆ ถึง ๖ ล้านคนหรือไม่ก็ยังไม่ทราบ ? นอกนั้นล้วนแต่ขาดตกบกพร่องอยู่เสมอ

    คราวนี้คำว่าศีล ๕ นั้น เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มนุสสธรรม หลักธรรมที่ทำให้เราเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ ถ้าหากว่าศีลบกพร่อง แปลว่าความเป็นมนุษย์ของเราไม่สมบูรณ์ เรากำลังทำตัวขาดทุนแล้ว เพราะว่าการที่ท่านทั้งหลายได้โอกาสมาเกิดเป็นมนุษย์นั้น ท่านต้องมีต้นทุนในอดีต คือศีล ๕ สมบูรณ์มาก่อน แต่ในเมื่อปัจจุบัน ถ้ารักษาศีลได้ไม่ครบ ความเป็นมนุษย์ของเราบกพร่อง โอกาสที่จะไปอบายภูมิก็มีสูงมาก

    คราวนี้การรักษาศีล เราจะเหนื่อยยากในระยะแรก พอรักษาไปจนชิน กลายเป็นของธรรมดา มีสติ ขยับตัวก็รู้ว่าศีลจะขาดบกพร่องหรือไม่ ถ้าถึงระดับนั้นศีลก็จะย้อนมารักษาเรา
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,652
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,549
    ค่าพลัง:
    +26,387
    ขั้นตอนต่อไปที่พระพุทธเจ้าสอนเราก็คือเรื่องของสมาธิ การที่เราตั้งหน้าตั้งตาระมัดระวังศีลทุกสิกขาบทให้สมบูรณ์บริบูรณ์ สติที่รู้ระมัดระวัง จะสร้างสมาธิให้เกิดโดยไม่รู้ตัว เมื่อเรามาตั้งหน้าตั้งตาภาวนาตามหลักอานาปานสติ คือกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก จึงสามารถที่จะรักษากำลังใจให้ทรงตัวเป็นสมาธิได้ง่าย

    แต่ว่าบ้านเราเมืองเรานั้น พระภิกษุสามเณร ตลอดจนกระทั่งญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ส่วนหนึ่งมีประสบการณ์ในการปฏิบัติธรรมน้อย ทำให้ไม่รู้ว่าถึงเวลาเราปฏิบัติธรรมแล้ว ต้องรักษาอารมณ์ใจนั้นเอาไว้ด้วย เพราะว่าถ้าท่านไม่สามารถรักษาอารมณ์ใจเอาไว้ได้ ถึงเวลาลุกขึ้นมาก็ทิ้งหมด

    การปฏิบัติธรรมเป็นการทวนกระแสโลก เหมือนกับเราว่ายทวนน้ำ เมื่อถึงเวลาออกแรงว่ายไปเต็มที่ พอได้ระยะที่เรารู้สึกว่าพอแล้ว เราก็ปล่อยมือ ก็จะไหลตามน้ำไป พอต้องการที่จะว่ายขึ้นมาใหม่ ก็ตั้งหน้าตั้งตาว่ายอีก แล้วก็ปล่อยไหลตามน้ำไปอีก

    ต่อให้เราขยันแค่ไหน ก็จะเป็นคนขยันที่ไม่มีผลงานอะไรเลย เพราะว่าทุกวันจะไหลตามน้ำไป แล้วถ้าหากว่าขี้เกียจขึ้นมาเมื่อไร ก็จะไหลไปไกลกว่านั้นอีก ยิ่งไหลไปไกลเท่าไร เราก็ต้องใช้เรี่ยวแรงในการที่จะว่ายทวนน้ำขึ้นมามากเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ท่านทั้งหลายเกิดความท้อแท้ แล้วท้ายที่สุดก็เลิกการปฏิบัติธรรมไปโดยปริยาย


    เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้น ถ้าท่านทั้งหลายรู้จักวิธีว่า เมื่อเลิกจากการนั่งสมาธิภาวนาแล้ว กำลังใจเราสงบแค่ไหน เราต้องประคับประคองรักษาอารมณ์ใจนั้นให้อยู่กับเราให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ ไม่ว่าจะเปลี่ยนอิริยาบถไป จากนั่งเป็นยืน เป็นเดิน เป็นนอน เป็นดื่ม กิน คิด พูด ทำ ใจเราต้องอยู่กับการภาวนาหรือลมหายใจโดยอัตโนมัติ

    ถ้าสามารถรักษากำลังใจไว้ในลักษณะนี้ได้บ่อย ๆ เราก็จะยืนระยะได้นานขึ้น จากที่ได้แค่ครู่เดียว เมื่อขยับเคลื่อนไหวสมาธิก็คลายตัวหมด เราก็จะเริ่มทำได้นานขึ้น จาก ๑ นาทีเป็น ๒ นาที ๕ นาที ๑๐ นาที ๑๕ นาที ครึ่งชั่วโมง จนกระทั่งเป็น ๑ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง ครึ่งวัน ๑ วัน แล้วก็เป็น ๒ วัน ๓ วัน ๔ วัน ๕ วัน ๗ วัน ๑๐ วัน ๑๕ วัน จนกระทั่งสามารถรักษากำลังใจได้นานเป็นเดือน ๆ

    กำลังใจของเราเหมือนกับน้ำ ถ้าหากว่าไม่สงบนิ่ง มีการกระเพื่อมเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เราก็ไม่สามารถที่จะรู้เห็นอะไรได้ แต่ถ้ากำลังใจของเราสงบระงับ จะเหมือนกับน้ำนิ่ง สามารถสะท้อนสิ่งต่าง ๆ รอบข้างลงไปได้อย่างชัดเจน
     
  6. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,652
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,549
    ค่าพลัง:
    +26,387
    ลักษณะตรงจุดนี้ ถ้าหากว่าท่านที่เป็นฆราวาสจำเป็นจะต้องทำงาน จะมีประโยชน์อย่างมหาศาล เพราะว่าท่านจะสามารถลำดับความสำคัญก่อนหลังเร็วช้าของแต่ละงานได้ ต่อให้มีงานมากเท่าไรก็ตาม เมื่อเราลำดับความก่อนหลังเร็วช้าของงานได้ เราก็จะหยิบจับงานที่เร็วที่สุดซึ่งมาถึงก่อนเพื่อนขึ้นมาทำก่อน เรื่องอื่นก็วางเอาไว้ตรงนั้น ถ้าเป็นในลักษณะอย่างนี้ เราก็จะมีงานอยู่ตรงหน้าชิ้นเดียว มีปัญหาอยู่ตรงหน้าเรื่องเดียว ซึ่งไม่เกินกำลังที่เราจะแก้ไขได้

    แต่เนื่องจากว่ากำลังใจของท่านทั้งหลายมีความส่งส่ายวุ่นวายอยู่เสมอ ทำให้ท่านไม่สามารถที่จะรักษาสติเอาไว้อยู่กับเฉพาะหน้าได้ แยกแยะไม่ออกว่าอะไรก่อนหลังเร็วช้า เราก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้

    โดยเฉพาะท่านที่เอาหลาย ๆ เรื่องมารวมกัน ก็ยิ่งเป็นปัญหาที่กองใหญ่ขึ้น แล้วท้ายที่สุด ปัญหาเหล่านั้นก็หนักเกินกำลัง จนเราเครียด กังวล นอนไม่หลับ ซึมเศร้า แล้วแต่อาการมากน้อย

    ดังนั้น...การที่เรากำหนดสติอยู่เฉพาะหน้า ไม่ใช่ว่าสามารถทำได้เฉย ๆ จากที่กระผม/อาตมภาพกล่าวมา ทุกท่านจะเห็นว่ามีขั้นมีตอนในการที่เราจะค่อย ๆ ไป ตามลำดับ และอาจจะต้องใช้ระยะเวลาหนึ่งในการพากเพียรพยามยามทำจริง ๆ

    คำว่า ทำจริง ๆ ในที่นี้ก็จะมีอุปสรรคมากมายเกิดขึ้น อุปสรรคในทางโลกก็คือคนรอบข้างจะว่าเราบ้า..! ซึ่งตรงจุดนี้ ถ้าท่านไม่สามารถทนปากคนอื่นได้ ท่านก็จะเลิกไปโดยปริยาย แต่ถ้าหากว่าท่านสามารถทนปากคนอื่นได้ เห็นประโยชน์ว่าสิ่งที่เราทำนั้นก่อให้เกิดประโยชน์จริง ๆ เราก็จะสามารถต่อสู้ฟันฝ่าจนกระทั่งผ่านไป ก็จะไปเจออุปสรรคทางธรรมแทน

    ก็คือการปฏิบัติของเราจะมีอาการแปลก ๆ เกิดขึ้น อย่างเช่นว่า ขนลุก น้ำตาไหล สั่นเหมือนเจ้าเข้า บางคนก็เต้นตึงตังโครมครามไปเลย บางคนก็ลอยขึ้นทั้งตัว บางคนรู้สึกว่าตัวพอง ตัวใหญ่ ตัวแตก ตัวระเบิด ถ้าหากว่ากลัว เราก็จะเลิกทำไปเลย แต่ถ้าเรารู้ว่านี่เป็นอาการเบื้องต้นของสมาธิที่จะต้องเกิดขึ้นกับเรา แล้วเราตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติต่อไป ก็จะสามารถก้าวข้ามอุปสรรคตรงนี้ไป แล้วเจอกับอุปสรรคที่หนักกว่านั้นอีก

    ซึ่งตรงจุดนี้ตรงที่เราผ่านมานั้น ภาษาบาลีเขาเรียกว่าปีติ คืออาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างน้อย ๕ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งต้องมี ก็คือ ขนลุก น้ำตาไหล ร่างกายโยกโคลง ลอยขึ้นทั้งตัว หรือรู้สึกว่าตัวพองตัวใหญ่ เป็นต้น
     
  7. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,652
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,549
    ค่าพลัง:
    +26,387
    เมื่อก้าวขึ้นไปจากจุดนั้น ก็จะเป็นส่วนที่บาลีเรียกว่า อุปกิเลส ก็คือใกล้จะเป็นกิเลส ถ้าเราไปถูกทางก็ไม่ใช่กิเลส แต่ถ้าเราไปผิดทางเมื่อไร จะเป็นกิเลสทันที ซึ่งประกอบไปด้วยโอภาส แสงสว่างเกิดขึ้น หลับตาภาวนาอยู่กลางคืน ไฟสักดวงก็ไม่ได้เปิด แต่มีแสงสว่างเจิดจ้าไปหมด สว่างไปทั้งห้องก็มี สว่างไปทั้งบ้านก็มี บางคนเห็นสว่างกว้างไกลไปทั้งโลกเลยก็มี สว่างยิ่งกว่าดวงอาทิตย์อีก..!

    ถ้าเราคิดว่าเราบรรลุมรรคผลแล้ว ตรงจุดนี้ก็จะกลายเป็นกิเลสทันที ซึ่งความจริง สิ่งนั้นเกิดจากใจของเราที่สงบ เมื่อเข้าถึงความสงบ ตัวเราเองน้อยคนที่จะเห็นใจตนเอง แต่ว่าบุคคลอื่นหรือว่าผู้ที่อยู่ในมิติอื่นสามารถที่จะเห็นตรงนี้ได้

    เพียงแต่ว่าบางท่านมีวิสัยมาทางด้านของวิชชาสาม อภิญญาหก เป็นต้น ก็จะสามารถรู้เห็นถึงความสว่างตรงจุดนี้ ก็คือความสว่างที่เกิดจากใจของเรา ซึ่งได้รับการขัดเกลา จนกระทั่งความมืดบอดเหลือน้อยลง..น้อยลง ก็จะส่องสว่างมากขึ้น..มากขึ้น

    ถ้าใครทำมาถึงตรงจุดนี้แล้ว ถ้า เป็นนักเรียนนักศึกษา เรื่องเรียนไม่มีอะไรยากเลย ตรงนี้กระผม/อาตมภาพพบมาด้วยตนเอง เพราะว่าตั้งแต่เด็กมาที่เรียนหนังสือ สมัยก่อนไม่ได้ตัดเกรด เขาคิดเป็น ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ กระผม/อาตมภาพสามารถทำคะแนนเต็มร้อยได้เป็นปกติ เมื่อมาบวชเล่าให้พรรคพวกเพื่อนฝูงฟัง ก็ไม่มีใครเชื่อ

    แต่เมื่อเริ่มเรียนนักธรรมบาลี สามารถทำคะแนนได้เต็ม ครูบาอาจารย์ก็เริ่มทึ่ง พอไปเรียนปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก เรื่องของการทำคะแนนเต็มร้อยของแต่ละวิชากลายเป็นเรื่องปกติ จนกระทั่งครูบาอาจารย์บางท่านบอกว่า "ของพระครูเล็ก ผมให้เต็มร้อยก็ได้ แต่เนื่องจากว่าท่านได้เต็มร้อยมามากแล้ว ผมก็เลยตัดท่านไป ๒ คะแนน..!" เหล่านี้เป็นต้น

    ถ้าหากว่ากำลังใจของเราสงบ เราจะเรียนอะไรก็ตาม ฟังครั้งเดียวจะเข้าใจ และที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือจดจำได้นานมาก จึงไม่มีวิชาอะไรยากสำหรับบุคคลที่ปฏิบัติในอานาปานสติมาจนถึงตรงนี้

    จากเด็กที่เรียนไม่เก่ง ถ้าสามารถทำถึงตรงนี้ได้ ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดที่สุด คือเป็นคนเรียนเก่งโดยอัตโนมัติ จากเด็กที่ขี้กลัว แม้กระทั่งกลางคืนไม่กล้าไปห้องน้ำ เพราะว่ากลัวผี..! ทำมาถึงตรงนี้เมื่อไร บางทีเราไม่รู้ว่าความกลัวหายไปตอนไหน จากคนที่ขี้กังวลนอนไม่หลับ แค่จับลมหายใจเข้าออก พุทโธ..พุทโธ หรือ พองหนอ..ยุบหนอ ไม่กี่ครั้งก็หลับไปแล้ว
     
  8. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,652
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,549
    ค่าพลัง:
    +26,387
    สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เมื่อเปลี่ยนแปลงมาถึงระดับนี้แล้ว ท่านจะเป็นคนที่มีสติและสมาธิมั่นคง ถึงเวลาทำงานอะไร ก็จะสามารถทำงานนั้นได้ในลักษณะรวดเร็ว ยืนระยะเวลาได้ยาวนาน

    ตรงจุดนี้ถือว่าเป็นของแถมในการปฏิบัติ เพราะว่าหลักการปฏิบัติธรรมที่แท้จริงของพระพุทธเจ้านั้น ท่านหวังไปถึงความหลุดพ้นจากกองทุกข์เลย ถ้าตราบใดที่เรายังไม่หลุดพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพาน ถือว่ายังไม่ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติธรรม

    แต่ถ้าหากว่าเราทำมาถึงตรงจุดนี้ก็ยังคงมีอุปสรรคอีก อย่างเช่นว่าความรู้ความสามารถหรือว่าเกียรติคุณปรากฏขึ้น ทำให้บรรดาญาติโยมทั้งหลายที่หวังพึ่งพาอาศัย หวังให้เราเป็นเนื้อนาบุญ ก็แห่กันมาเกาะ ถ้าท่านไม่มั่นคงต่อเป้าหมายในการปฏิบัติธรรม เมื่อ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เกิดขึ้น ก็จะเบี่ยงเบนไปจากเป้าหมายทันที จากที่ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น ก็กลายเป็นกอบโกย สะสมทุกอย่าง แต่ว่าเรื่องทั้งหลายเหล่านี้ก็เป็นเรื่องอัศจรรย์อีก ก็คือยิ่งไม่ต้องการเท่าไรก็ยิ่งมา เหมือนกับเป็นการทดสอบอย่างหนึ่งเช่นกัน

    เมื่อมาถึงตรงจุดนี้ เราจำเป็นต้องใช้อาวุธชิ้นสุดท้ายของพระพุทธเจ้าก็คือปัญญา ถ้ามาถึงตรงจุดนี้แล้ว จากปัญญาเบื้องต้นที่เรียกว่า สหชาติกปัญญา ปัญญาที่มาพร้อมกับการเกิด ก็คือรู้จักกิน รู้จักนอน รู้จักหลบภัย รู้จักสืบพันธุ์ ก็จะเริ่มปรับขึ้นมาเป็นปาริหาริกปัญญา เป็นปัญญาที่ก่อเกิดจากการเรียนรู้และประสบการณ์ในการดำเนินชีวิต

    เมื่อปัญญาที่ก่อให้เกิดประสบการณ์ในการดำเนินชีวิต ถ้าหากว่าเราอยู่ในกรอบของศีลของธรรม เราก็เป็นพลเมืองดีของชาติ ถ้าหากว่าเป็นอุบาสก อุบาสิกา ก็เป็นกำลังที่คอยค้ำจุนพระพุทธศาสนา

    แต่ว่าพระพุทธเจ้าท่านต้องการปัญญาช่วงสุดท้ายที่เรียกว่า เนปักกปัญญา เป็นปัญญาที่รู้จักเอาตัวรอดจากวัฏสงสาร พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด
     
  9. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,652
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,549
    ค่าพลัง:
    +26,387
    ถ้าหากว่าตรงนี้ไม่ชัดเจน เราต้องดูที่พระสารีบุตรกล่าวถึงในสังคีติสูตร พระสุตันตปิฎก กล่าวถึงปัญญา ๓ ว่าประกอบไปด้วย

    สุตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการฟัง เมื่อฟังมาแล้ว ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายมีจิตที่สงบ สามารถทำความเข้าใจถึงได้ทันที

    ถ้าหากว่ายัง ก็ต้องเพิ่มขั้นตอนที่สอง คือ จินตมยปัญญา ที่พวกเรามักจะอ่านว่า จินตามยปัญญา ก็คือปัญญาที่เกิดจากการขบคิด จนกระทั่งเข้าใจว่าสิ่งนั้นหมายถึงอะไร

    แต่ว่าที่พระพุทธเจ้าท่านต้องการจริง ๆ คือปัญญาขั้นสุดท้ายที่เรียกว่า ภาวนามยปัญญา ปัญญาที่ก่อให้เกิดความเจริญในจิตใจ โดยไม่มีวันตกต่ำอีก เป็นปัญญาของพระอริยเจ้าโดยเฉพาะ พูดง่าย ๆ ว่าถ้าเข้าไม่ถึงความเป็นพระโสดาบัน ยังไม่ใช่ภาวนามยปัญญาที่แท้จริง
    ท่านทั้งหลายก็จะเห็นว่า เริ่มจากความคิด ก็คือสัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ ก็ออกมาเป็นคำพูดและการกระทำ คือสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ แล้วก็เริ่มก้าวสูงขึ้นไปในส่วนของสมาธิจิต ก็คือไปเน้นในเรื่องของใจ คือสัมมาวายามะ เพียรได้ถูกต้อง

    เราอาจจะสงสัยว่า คนเราขยันทำมาหากินเป็นความเพียรที่ถูกต้องหรือไม่ ? นั่นเป็นความเพียรที่ถูกต้องในทางโลก แต่ถ้าความเพียรที่ถูกต้องในทางธรรม ก็คือเพียรพยายามขับไล่ความชั่วออกจากใจของตน เพียรพยายามป้องกันไม่ให้ความชั่วนั้นเข้ามาในใจของเราได้อีก เพียรพยายามสร้างความดีให้เกิดขึ้นในจิตใจของตน แล้วเพียรพยายามกระทำให้ความดีนั้นเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป ถึงได้เรียกว่า สัมมาวายามะ ความเพียรที่ถูกต้อง
     
  10. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,652
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,549
    ค่าพลัง:
    +26,387
    ถัดไปคือสัมมาสติ ท่านแปลเอาไว้ว่า เป็นสติที่ดำเนินไปถูกต้อง ก็คือสติที่อย่างน้อยต้องอยู่กับอานาปานสติ คือลมหายใจเข้าออก

    ทุกวันนี้คนเรามักจะทุกข์เพราะความคิดของตนเอง เพราะถ้าเราคิด เราไม่ไปหวนหาอาลัยอดีต เราก็จะไปฟุ้งซ่านถึงอนาคต ในเมื่อเป็นเช่นนั้น แปลว่าเราคิดให้ตัวเราทุกข์เอง อยากได้นั่น อยากได้นี่ อยากเป็นนั่น อยากเป็นนี่ เริ่มอยากก็เริ่มทุกข์แล้ว

    แล้วทำอย่างไรเราถึงจะหักห้ามความอยากตรงนี้ได้ ? เราก็ต้องอยู่กับอานาปานสติ คือลมหายใจเข้าออกเฉพาะหน้า ถ้าเราอยู่กับลมหายใจเข้าออกเฉพาะหน้า คืออยู่กับตอนนี้ เดี๋ยวนี้ ภาษานักปฏิบัติท่านเรียกว่า อยู่กับปัจจุบันธรรม

    ถ้าความคิดเราหยุดอยู่กับปัจจุบัน ไม่ฟุ้งซ่านไปในอดีต ไม่ฟุ้งซ่านไปในอนาคต ความทุกข์เราจะเหลือน้อยมาก ดังนั้น...ขอทุกท่านอย่าได้ซ้ำเติมตัวเองด้วยการคิดให้ตัวเองทุกข์
    คนเราต้องมีความคิดความฟุ้งซ่านเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ต้องรู้จักหยุดให้เป็นด้วยลมหายใจเข้าออกนี่แหละ ถ้าสติเราอยู่เฉพาะหน้ากับลมหายใจเข้าออก เท่ากับเราหยุดความฟุ้งซ่านทั้งปวงลงได้ชั่วคราว เมื่อกำลังใจเราปักมั่นอยู่กับลมหายใจ รัก โลภ โกรธ หลง จะเกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อ รัก โลภ โกรธ หลง เกิดขึ้นไม่ได้ สิ่งที่จะนำพาให้เราทุกข์ก็ไม่มี ยกเว้นความทุกข์ตามสภาพที่เกิดขึ้นเพราะการมีร่างกายนี้

    ซึ่งในลักษณะนั้นต้องบอกว่าทุกคนก็เป็น แม้แต่พระอริยเจ้าท่านก็มีความทุกข์ในส่วนนี้ เพียงแต่ว่าท่านทุกข์โดยที่ไม่ได้กังวล คือสภาพร่างกายจะเป็นอย่างไร ท่านก็มีหน้าที่ผ่อนคลายและบรรเทา รักษาธาตุขันธ์ไปตามสภาพ หิวก็หาให้กิน กระหายก็หาให้ดื่ม เจ็บไข้ได้ป่วยก็รักษาพยาบาล สกปรกโสโครกก็ชำระร่างกาย ทำหน้าที่ไป เพราะว่าเรายังต้องอาศัยร่างกายนี้อยู่

    โดยมารยาทของผู้อาศัย ก็ต้องดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพที่ดีที่สุด ซึ่งตรงจุดนี้สำคัญตรงที่ว่า เราต้องมีสติระลึกรู้อยู่เสมอว่า ร่างกายนี้เป็นเพียงแค่ที่อาศัยชั่วคราวของเราเท่านั้น
     
  11. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,652
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,549
    ค่าพลัง:
    +26,387
    ถ้าหากว่าเราไม่ไปยึดเกาะมากจนเกินไป สักแต่ว่าอยู่อาศัยเพื่อสร้างสมคุณงามความดี เมื่อเราทำความดีถึงที่สุดก็จะหลุดพ้นไปได้แล้ว ความคิดของเราก็จะอยู่กับปัจจุบันเฉพาะหน้า ไม่ไปคิดฟุ้งซ่านที่จะหาครอบครัว หาชื่อเสียงเกียรติยศ หาความร่ำรวยใส่ตัว มีแต่ทำไปตามหน้าที่

    ตรงจุดนี้ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ สรุปไว้เป็นหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ก็คือ สันโดษ คำว่าสันโดษ ไม่ได้แปลว่ายากจน คำว่า สันโดษ บาลีกล่าวแยกเอาไว้ว่า หนึ่ง...ยถาลาภสันโดษ ยินดีพอใจตามที่ได้มา ได้อะไรก็พอใจแค่นั้น สอง...ยถาพลสันโดษ ยินดีตามกำลังที่ตนหาได้ ถ้าท่านมีเงินลงทุนเป็นร้อยล้านพันล้าน ท่านสามารถหาได้เป็นร้อยล้านพันล้าน ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะฉะนั้น...ในหลวงรัชกาลที่ ๙ จึงสรุปไว้ชัดเจนว่า สันโดษไม่ได้แปลว่ายากจน

    ข้อสุดท้าย ยถาสารุปปสันโดษ ยินดีตามฐานะของตน ถ้าหากว่าท่านมีเป็นพันล้านหมื่นล้าน จะขี่รถหรูคันหนึ่งสี่ห้าสิบล้านก็เป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าหากว่าเรายังเป็นมนุษย์เงินเดือนอยู่ จะนั่งรถเมล์ นั่งรถไฟฟ้า นั่งแท็กซี่ ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติของเรา ทุกอย่างให้เป็นไปตามอัตภาพ

    ให้เราเข้าใจว่า ความเป็นมนุษย์ของเรามีต้นทุนที่เสมอกันคือศีล ๕ แต่ว่าในเรื่องของฐานะ ในเรื่องของปัญญา เรามีไม่เท่ากัน เพราะว่าในเรื่องของฐานะ เกิดจากเรื่องของทานบารมี เรื่องของการปัญญา เกิดจากการภาวนารักษาใจ แต่ว่าเรื่องทั้งหลายเหล่านี้นั้น จะเป็นผลบุญในอดีตที่ส่งผลถึงปัจจุบัน แปลว่าอดีตถ้าเคยให้ทานไว้ ปัจจุบันก็เป็นผู้ที่มากด้วยโภคสมบัติ ในอดีตถ้าหากว่าเคยบำเพ็ญภาวนา เคยให้สิ่งที่เป็นธรรมทาน ปัจจุบันก็จะเป็นผู้ที่มีปัญญามาก

    แต่ว่าท่านทั้งหลายต้องเข้าใจว่า คำว่าอดีตนั้น คือเวลาที่ผ่านพ้นไปแล้ว จากวินาทีนี้ ถ้าผ่านไป เมื่อถึงวินาทีหน้า วินาทีนี้ก็เป็นอดีต ดังนั้น...ถ้าท่านสามารถทำดีในปัจจุบันให้ต่อเนื่องยาวนานเพียงพอ ในส่วนของความดีที่เราทำในชาตินี้ สามารถที่จะทำให้ท่านทั้งหลายได้รับผลในชาติปัจจุบัน แต่อาจจะอีกหลายปีข้างหน้า เพราะว่าต้องรอสั่งสมจนกว่าที่จะเพียงพอ
     
  12. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,652
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,549
    ค่าพลัง:
    +26,387
    สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เมื่อเราทำไปถึงระดับนั้นแล้วก็จะส่งผลชนิดที่ "ไหลมาเทมา" แต่ว่าสิ่งที่มานั้นเป็นโลกธรรม คือหลักธรรมที่มีอยู่ประจำโลก ได้แก่ การได้ลาภ ได้ยศ ได้รับการสรรเสริญเยินยอ ได้รับความสุขจากสิ่งต่าง ๆ แต่สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ก็เป็นไปโดยหลักอนิจจังขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็คือสามารถที่จะเสื่อมสลายไปได้ ได้ลาภก็สามารถเสื่อมลาภได้ ได้ยศก็อาจจะโดนถอดยศเรียกคืน ได้รับการสรรเสริญ ก็อาจจะมีผู้นินทาว่าร้าย ได้รับความสุขก็อาจจะมีความทุกข์แทรกเข้ามาได้

    ดังนั้น...การที่เราจะมีความสุขอยู่กับโลกนี้อย่างมีความสุขได้จริง ๆ เราจึงขาดอานาปานสติไม่ได้ ถ้าหากว่าเราอยู่กับอานาปานสติ คือลมหายใจเข้าออกอย่างแท้จริง ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำ โดยเฉพาะหน้าที่การงานเฉพาะหน้า จะเป็นงานที่มีคุณภาพ เพราะว่าเรามีสติ ให้ความสนใจจดจ่ออยู่กับงานนั้น ๆ และที่แน่ ๆ ก็คือมี กำลังที่จะยื้อสู้กับงานไปจนกว่างานนั้นจะเสร็จ ไม่ท้อถอย ไม่เบื่อหน่าย เพราะว่ากำลังสมาธิของเราสูงพอ จากการที่ฝึกหัดอยู่กับลมหายใจเข้าออกมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน จนกระทั่งกำลังใจมั่นคง

    ตรงจุดนี้ ถ้าหากว่ากล่าวไปแล้ว ท่านทั้งหลายก็อาจจะสงสัยว่า การทำสมาธิให้กำลังใจมั่นคงนั้น มีคำเรียกที่ชัดเจนบ้างหรือไม่ ? ก็มีอยู่ แต่บางท่านฟังแล้วอาจจะรู้สึกว่าสูงเกินไป ก็คือเป็นผู้ที่สามารถทรงฌาน ทรงสมาบัติได้ เมื่อทรงฌาน ทรงสมาบัติได้ ท่านจะเป็นผู้ที่เข้มแข็ง ทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ

    ความเข้มแข็งในที่นี้ก็คือท่านจะเป็นผู้ที่มีจิตใจมั่นคง ไม่ไหลตามกระแสโลกไปง่าย ๆ ใครว่าอะไรดีก็พินิจพิจารณาด้วยปัญญาเสียก่อน ไม่ไหลตามกระแสโดยเชื่อในทันที เป็นผู้ที่มีสติ เสพรับข่าวสารต่าง ๆ เข้ามาแล้ว ก็รู้จักยั้งคิดว่า สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นการนำเสนอจากนักข่าวเพียงมุมเดียว เหมือนกับบุคคลที่มองสิ่งหนึ่งสิ่งใดจากส่วนเดียว ในลักษณะของตาบอดคลำช้าง

    ถ้าบอกว่าช้างเหมือนกับต้นเสา ก็แปลว่านักข่าวคนนั้นคลำไปเจอขาช้าง บอกว่าช้างเหมือนปลิง แสดงว่าคลำไปเจองวงช้าง บอกว่าช้างเหมือนงอนไถ แปลว่าคลำไปเจองาช้าง บอกว่าช้างเหมือนไม้กวาด แปลว่าคลำเจอแค่หางช้าง บอกว่าช้างเหมือนกระพ้อม แปลว่าคลำเจอท้องช้างเข้าแล้ว
     
  13. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,652
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,549
    ค่าพลัง:
    +26,387
    ในเมื่อสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นความจริงเพียงมุมเดียว และอาจจะเป็นการนำเสนอเพราะโดนชี้แนะชักนำด้วย เราก็หยุดใจของเราเอาไว้ อย่าเพิ่งไปยินดียินร้ายจนกระทั่งก่อให้เกิดมโนกรรม วจีกรรม หรือถ้าหากว่าพิมพ์สิ่งต่าง ๆ ในลักษณะของคอมเมนท์ ก็จะกลายเป็นกายกรรมไปด้วย

    เมื่อเรามีอานาปานสติ สร้างกำลังใจของเราให้เข้มแข็ง เราจะรู้จักระงับยับยั้ง อย่างในปัจจุบันนี้สินค้าต่าง ๆ เสนอขายอย่างชนิดที่เราคิดไม่ถึงว่าเขาจะกล้าทำ ถ้าท่านไปที่ทองผาภูมิ อยากจะได้รถมอเตอร์ไซค์ป้ายแดงสักคันหนึ่ง ไม่ต้องมีเงินเลยก็ได้ มีแค่บัตรประชาชนใบเดียว เข้าไปถึง ทำสัญญาซื้อขายมอเตอร์ไซค์ ๑ คัน โดยที่เขาแถมพัดลม ๑ ตัว ร่ม ๑ คัน และให้เงินไปเติมน้ำมันอีก ๕๐๐ บาทด้วย มีกติกาว่าเอาไปขับก่อน ถ้าภายใน ๓ เดือน ถ้าไม่พอใจให้เอามาคืนได้

    เมื่อท่านทั้งหลายนำรถออกมาขับ เป็นที่ปรากฏต่อสายตาพรรคพวกเพื่อนฝูง ก็จะมีคน "เฮ้ย...ออกรถใหม่นี่หว่า" "อ้าว...ป้ายแดงด้วย สวยดี ยี่ห้ออะไรวะ ? ดูน่าขับจังเลย" เมื่อสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เกิดขึ้น รถคันนั้นจากยานพาหนะที่ควรเป็น ก็กลายเป็นหน้าเป็นตาของเราไป ตั้งแต่เขาทำโครงการมา ยังไม่มีใครเอารถไปคืนเลย ครบ ๓ เดือนเมื่อไรก็ไปจ่ายเงินดาวน์แต่โดยดี แล้วก็ต้องออกแรงผ่อนเขาไปอีก ๔๘ เดือน ก็คือ ๔ ปี นั่นเพราะว่าเราขาดสติ ลืมนึกไปว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี

    โดยเฉพาะการโฆษณาออกสื่อต่าง ๆ เขาศึกษาจิตวิทยามนุษย์มาแล้ว เห็น "อีโก้" หรืออัตตาในตัวของเรา เขาถึงกล้าที่จะทำโปรโมชั่นต่าง ๆ ออกมา เพราะทำให้เราเห็นว่าสามารถที่จะหามาได้ในราคาที่ไม่แพง แต่ความจริงแล้วแพงมาก

    กระผม/อาตมภาพไปถามราคารถยนต์เงินผ่อน กับรถที่ซื้อโดยเงินสดเมื่อประมาณ ๒๐ ปีที่แล้ว เมื่อบวกกับเงินดาวน์และจำนวนเงินผ่อน ๖๐ เดือน ปรากฏว่าเราต้องจ่ายเงินมากกว่าซื้อเงินสดประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ บาท เพราะเขาถือว่าเป็นดอกเบี้ย เท่ากับเขาให้เรากู้เงิน โดยที่เราต้องไปผ่อนใช้คืนเขาทีหลัง ซึ่งปกติแล้ว ถ้าหากว่าเราผ่อนครบ ๖๐ เดือน รถคันนั้นก็เหลือแต่ซากแล้ว ต้องซ่อมกันแล้วซ่อมกันอีก ถึงเวลานั้นเราก็ต้องไปดาวน์คันใหม่ แล้วก็เป็นหนี้เขาต่อไป เพราะว่าขาดสตินั่นเอง

    เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ ถ้าหากว่าท่านมีการปฏิบัติในอานาปานสติจริง ๆ ก็จะไม่เกิดขึ้นกับเรา เพราะว่าเราสามารถที่จะระงับยับยั้งใจ รู้จักพินิจพิจารณา
     
  14. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,652
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,549
    ค่าพลัง:
    +26,387
    กระผม/อาตมภาพรู้จักนายดาบตำรวจผู้หนึ่ง ต้องบอกว่านายดาบผู้นี้เป็นผู้ที่เข้าวัดเข้าวาเป็นปกติ กู้เงินจากสหกรณ์มาซื้อที่ดิน ๒ ไร่ สร้างบ้านของตัวเอง แล้วก็พยายามที่จะหาเงินโดยถูกต้อง อย่างเช่นว่า มีการขายสินค้าขายตรง มีการขายประกัน เมื่อพร้อมกับเงินเดือนในฐานะนายดาบตำรวจของตัวเอง ก็สามารถที่จะผ่อนใช้คืนสหกรณ์ได้

    กระผม/อาตมภาพเข้าไปพูดคุยด้วยในฐานะผู้ที่คุ้นเคยว่า "นายดาบ..ทำไมถึงมากู้เงินสร้างบ้าน ทั้ง ๆ ที่มีบ้านหลวงให้อยู่ ?" ท่านตอบว่า "ถ้าผมอยู่บ้านหลวงไปจนเกษียณ ถึงเวลาเกษียณแล้วทางการเขาเรียกบ้านคืน ผมก็จะไม่มีที่อยู่"

    เมื่ออยู่บ้านหลวง ใกล้ชิดกับข้างบ้าน ข้างบ้านเขามีอะไร เมียผมก็อยากได้อย่างนั้น ข้างบ้านมีตู้เย็น เมียผมจะเอาตู้เย็น ข้างบ้านเขามีรถยนต์ เมียผมจะเอารถยนต์ ข้างบ้านมีโทรทัศน์ มีโฮมเธียเตอร์ เมียผมจะเอา ผมก็เป็นหนี้หัวโตโดยที่ไม่มีอะไรเลย

    แต่ตอนนี้ไปจนถึงเกษียณ ผมสามารถใช้หนี้เงินกู้ได้หมด พอผมเกษียณแล้ว มีทั้งบ้าน มีทั้งที่ดิน เมียผมได้แยกออกมาอยู่ต่างหาก ไม่ได้อยู่บ้านพักตำรวจ ไม่ได้เห็นในสิ่งต่าง ๆ ที่เร้าใจตนเอง แล้วอยากมีอยากได้ตามเขา ก็ต้องรู้จักเก็บเงิน และโดยเฉพาะการอยู่รวมกันมาก ๆ เวลาว่างมีเยอะ เดี๋ยวก็ชวนกันเข้าวงไพ่ แบบนั้นมีเงินเท่าไรก็หมด..!

    ดังนั้น...เราจะเห็นว่าบุคคลที่มีสติ รู้จักคิด รู้จักพิจารณา จะดำเนินชีวิตในโลกนี้อย่างคนที่ไม่ทุกข์มาก แต่ถ้าเราขาดสติ วิ่งไล่ทุกสิ่งทุกอย่าง เราก็จะเหนื่อยมาก แล้วขณะเดียวกันก็จะเครียด จะทุกข์มากกว่าคนอื่น เพราะว่าต้องกลายเป็นวัวงาน ทำงานงก ๆ อยู่ทั้งวัน เพื่อที่ไปผ่อนใช้หนี้ หนี้ทั้งหลายเหล่านี้ก็มีแต่ดอกเบี้ยที่เพิ่มพูนขึ้นมา แล้วยิ่งถ้าไปกู้หนี้นอกระบบก็ยิ่งหนักขึ้นไปอีก แต่สิ่งทั้งหลายเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นกับท่านที่ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติธรรมจนเห็นผล

    เพราะว่าอันดับแรกเลย กำลังใจของท่านเมื่ออยู่กับอานาปานสติจนชิน ถึงระดับที่ทรงฌานได้ ท่านจะมีกำลังเหนือ รัก โลภ โกรธ หลง แม้ว่าจะเหนือได้ชั่วคราว ไม่สามารถตัดขาดได้เลย แต่ก็จะรู้จักระงับยับยั้งชั่งใจตนเอง ถึงเวลาสิ่งใดที่หามาถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เราจะหาจะทำตามนั้น สิ่งใดที่จะมาซ้ำเติมให้ตัวเราและครอบครัวต้องเดือดร้อน เราก็จะไม่ทำสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น โดยเฉพาะจะตั้งตนเป็นพุทธมามกะที่ดี รู้จักทำบุญสุนทาน รู้จักปฏิบัติ กาย วาจา ใจของตนอยู่ในกรอบของศีล
     
  15. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,652
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,549
    ค่าพลัง:
    +26,387
    เรื่องทั้งหลายเหล่านี้เป็นเรื่องที่พระพุทธศาสนาของเราต้องการ เพราะว่าจะเป็นบุคคลตัวอย่างที่สามารถนำไปแสดงให้คนอื่นเขาเห็นได้ ว่าคนที่เขาทำถึงจริง ๆ แล้วจะเป็นแบบนี้ เรื่องทั้งหลายเหล่านี้จะมีขึ้นไม่ได้ ถ้าท่านทั้งหลายยังไม่รู้จักอยู่กับลมหายใจเข้าออก

    คราวนี้การที่เราอยู่กับลมหายใจเข้าออก หรืออานาปานสติ ก็มีคำสอนหลายสำนักเหลือเกิน บางท่านก็ให้ภาวนา พุทโธ บางท่านก็ให้ภาวนา สัมมา อะระหัง บางท่านก็ให้ภาวนา นะมะพะธะ บางท่านก็ให้ภาวนา พองหนอ..ยุบหนอ เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ ไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะว่าคำภาวนาเป็นแค่เครื่องโยงใจให้เป็นสมาธิ เมื่อเรามีสมาธิแล้วต่างหาก ถึงจะเป็นสาระ เป็นแก่นสาร ดังนั้น...คำภาวนาจะเป็นตัวบทพระคาถาใด ๆ ก็ได้

    ถ้าอย่างหลวงปู่สมชาย วัดเขาสุกิม ท่านไม่ได้ใช้คำภาวนาเหมือนคนอื่น โยมพ่อของท่านเมื่อเลิกงานตอนเย็น ก็พาลูกไปกราบหลวงปู่หลวงพ่อที่วัด ไปสนทนาธรรม ด้วยความที่ใฝ่รู้ใฝ่ธรรม ก็เกรงว่าเด็ก ๆ จะรบกวนในระหว่างที่สนทนาธรรม จึงทิ้งหลวงปู่สมชายที่ยังเป็นเด็กเล็ก ๆ ไว้ที่ศาลา พอเวลามืดค่ำขึ้นมา วัดป่า..ก็รู้อยู่บรรยากาศวังเวงน่ากลัวขนาดไหน ผู้ใหญ่ยังรับไม่ค่อยจะไหว แล้วนี่เด็กตัวเล็กนิดเดียว

    หลวงปู่ท่านเล่าให้ฟังว่า ท่านหลับตากอดเข่า คิดอยู่อย่างเดียวว่า "กลัวแล้ว..ไม่มาแล้ว กลัวแล้ว..ไม่มาแล้ว" ก็คือเป็นตายก็จะไม่ไปวัดในลักษณะอย่างนี้อีก ปรากฏว่าท่านคิดแบบนั้นอยู่ไม่นาน อยู่ ๆ ก็รู้สึกว่าความมืดหายไปหมด สว่างเจิดจ้าจนกระทั่งมองเห็นเหมือนกับกลางวัน แล้วก็สงสัยว่าไอ้คนที่กอดเข่าเอาหัวซุกเข่า ร้องว่า "กลัวแล้ว..ไม่มาแล้ว" นั่นคือใคร ? หน้าตาเหมือนกับเราเลย แล้วตัวเราที่มองเขาอยู่นั่นคือใคร ?

    เมื่อถึงเวลาเล่าให้โยมพ่อฟัง วันต่อไปโยมพ่อเอาไปเล่าถวายหลวงพ่อที่ท่านเคารพ หลวงพ่อท่านก็บอกว่า "ลูกเขาภาวนาเป็น เขามีบุญดี" เพราะฉะนั้น...แค่คำว่า "กลัวแล้ว..ไม่มาแล้ว กลัวแล้ว..ไม่มาแล้ว" ก็ทำให้เกิดสมาธิขึ้นมาในระดับนั้นได้
     
  16. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,652
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,549
    ค่าพลัง:
    +26,387
    ท่านทั้งหลายจะเห็นว่าคำภาวนาไม่ใช่สาระ อะไรก็ได้ที่ย้ำ ๆ ซ้ำ ๆ อยู่เสมอ เป็นการโยงจิตของเราให้เกิดสมาธิ สาระสำคัญก็คือรักษากำลังใจอยู่เฉพาะหน้า อยู่กับลมหายใจเข้า อยู่กับลมหายใจออก จนกระทั่งสมาธิทรงตัว ดับกิเลส รัก โลภ โกรธ หลง ได้ชั่วคราว

    ถ้าท่านทำมาถึงตรงจุดนี้แล้ว ต่อให้ลูกหลานของท่านเป็นนักกินนักเที่ยวขนาดไหนก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงจากภายในจะปรากฏชัดออกมาภายนอกเลย เนื่องเพราะว่าเขาทั้งหลายเหล่านั้นสามารถดับไฟที่เผาตนเองอยู่ลงได้ ด้วยอำนาจของสมาธิที่เกิดจากลมหายใจเข้าออก

    ไฟทั้งหลายเหล่านั้น ถ้าหากว่าท่านดูในอาทิตตปริยายสูตร ในพระสุตันตปิฎก บาลีกล่าวว่า ราคัคคิ ไฟคือราคะ โทสัคคิ ไฟคือโทสะ โมหัคคิ ไฟคือโมหะ คือความรัก โลภ โกรธ หลง นั่นเอง เราโดนไฟทั้งหลายเหล่านี้เผาอยู่ทุกวัน เร่าร้อนแต่ไม่รู้ตัว รู้แต่ว่าต้องเต้นไปเรื่อยเหมือนกับมดที่อยู่ในกระทะร้อน ๆ แต่ไม่รู้ตัวว่าความร้อนมาจากอะไร ?

    เมื่อท่านทั้งหลายอยู่กับลมหายใจเข้าออก อยู่กับอานาปานสติแล้ว เมื่ออารมณ์ใจทรงตัว กำลังสูงพอสามารถที่จะดับไฟที่เผาเราอยู่ได้ชั่วคราว ความสุขเยือกเย็นที่เกิดขึ้น ไม่สามารถอธิบายเป็นภาษามนุษย์ได้ เพราะว่าหลักธรรมนั้นเป็น "ปัจจัตตัง" เป็นภาษาใจ รู้ได้เฉพาะตน ความรู้สึกไม่กี่วินาทีที่เกิดขึ้น ถ้าพยายามอธิบายด้วยคำพูดก็ใช้เวลานาน ถ้าอธิบายเป็นตัวหนังสือก็อาจจะหลายหน้ากระดาษ

    แต่ว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นความสุขอย่างแท้จริง เป็นความสุขจากการสงบระงับจากกิเลส เป็นความสุขที่ไม่ต้องมีสิ่งกระตุ้นเร้าจากภายนอก
     
  17. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,652
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,549
    ค่าพลัง:
    +26,387
    ดังนั้น...ลูกหลาน หรือแม้กระทั่งตัวท่านเอง ที่ยังหลงไปไขว่คว้าความสุขภายจากนอก ต้องไปกิน ต้องไปเที่ยว ต้องไปเห็นแสงสี ต้องไปเต้นรำ ต้องดื่มสุรายาเมา สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นเป็นความสุขชั่วคราว ที่ต้องกระตุ้นจากสิ่งเร้าภายนอก ที่เข้ามาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายไปสู่ใจ

    เมื่อถึงเวลาไม่ได้ไป ไม่ได้รับการกระตุ้น ก็สูญหายไป เมื่อไปใหม่ ได้รับใหม่ ก็รู้สึกว่ามีความสุขใหม่ เลยทำให้กลายเป็นเด็กติดกิน ติดเที่ยว โดยที่ไม่รู้ว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นความสุขชั่วคราว มีแต่จะก่อความทุกข์ให้อย่างมหันต์

    เมื่อท่านสามารถทรงอานาปานสติ จนเกิดความมั่นคง ความสุขภายในใจแล้ว ต่อให้เรื่องกินเรื่องเที่ยวขนาดไหน ก็ไม่สามารถเอามาเปรียบได้ ท่านจะเลิกความประพฤตินั้นไปเองโดยอัตโนมัติ แล้วหันมาไขว่คว้าสิ่งทั้งหลายในใจเหล่านี้แทน

    ความเปลี่ยนแปลงจากภายใน ก็จะออกมาสู่ภายนอก ท่านจะมีความเปลี่ยนแปลง ทางกาย วาจา และใจที่ชัดเจน ทำให้คนสงสัย เมื่อถึงเวลาเขาสงสัยว่าทำไมเราเปลี่ยนไป เราก็ค่อยชี้แจงให้เขาทั้งหลายได้ทราบว่า เราเปลี่ยนเพราะอานาปานสติ เขาทั้งหลายเหล่านั้น ต่อให้ไม่เชื่อขนาดไหนก็ตาม ในเมื่อมีตัวเราที่เป็นตัวอย่างอย่างชัดเจนแล้ว เขาก็จำเป็นต้องเชื่ออยู่ดี ถ้าหากว่าอำนาจกุศลเก่าที่เขาทำเอาไว้มีพอ เขาก็จะคล้อยตามมา นำตัวเราเป็นตัวอย่าง โดยการพยายามปฏิบัติตาม


    ถ้าหากว่าหลาย ๆ คนภายในบ้านช่วยกันทำ ครอบครัวนั้นก็จะร่มเย็นเป็นสุข หลาย ๆ ครอบครัวช่วยกันทำ หมู่บ้านนั้นก็จะร่มเย็นเป็นสุข หลาย ๆ หมู่บ้านช่วยกันทำ ตำบลนั้นก็จะร่มเย็นเป็นสุข หลาย ๆ ตำบลช่วยกันทำ อำเภอนั้นก็จะร่มเย็นเป็นสุข หลาย ๆ อำเภอช่วยกันทำ จังหวัดนั้นก็จะร่มเย็นเป็นสุข และถ้าหลาย ๆ จังหวัดช่วยกันทำ ประเทศชาติของเราก็จะมีความสงบสุขมาก จะมีความมั่นคงทั้งทางโลกและทางธรรม นี่คืออานุภาพแห่งอานาปานสติที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงภายใน แล้วสามารถปรากฏชัดออกมาเป็นความเปลี่ยนแปลงภายนอกได้

    กระผม/อาตมภาพได้ใช้เวลามาพอสมควร ดังนั้น...ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายมีคำถามอะไร ถ้าสามารถเปิดไมค์ฯ ได้ กดไมค์ฯ แล้วถามได้เลย แต่ถ้าหากว่าเปิดไมค์ฯ ไม่ได้ ให้ทิ้งคำถามไว้ในช่องแช็ต เดี๋ยวเจ้าหน้าที่ของเราจะอ่านคำถามนั้น แล้วกระผม/อาตมภาพจะเป็นผู้ตอบให้ ตอนนี้ถ้าหากว่าใครมีอะไรสงสัย ขอเชิญไต่ถามได้เลยจ้ะ
     
  18. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,652
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,549
    ค่าพลัง:
    +26,387
    ถ้ายังไม่มีคำถาม ก็จะขอเพิ่มเติมให้ว่า อานาปานสตินั้น ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายศึกษาจากพระไตรปิฎก จะมีอยู่ทั้งในทีฆนิกาย และมัชฌิมนิกาย เป็นหลักการปฏิบัติอย่างเดียวกัน เพียงแต่เพิ่มเติมรายละเอียดมากขึ้น และอีกส่วนหนึ่งจะมีปรากฏอยู่ในวิสุทธิมรรค

    ในวิสุทธิมรรคนั้นจะให้รายละเอียดว่า การปฏิบัติในอานาปานสติของเรานั้นมีวิธีการแบบใดบ้าง อย่างเช่นว่า วิธีการแบบผุสนา คือจับลมกระทบ จะเอากี่ฐานก็แล้วแต่ความถนัดของเรา กำหนดลมกระทบฐานเดียวที่ปลายจมูกก็ได้ หรือว่าที่ศูนย์กลางกายก็ได้ หรือจะกำหนดลม ๓ ฐาน จมูก อก ท้อง...ท้อง อก จมูก ก็ได้ หรือจะกำหนด ๗ ฐานก็ได้

    ส่วนอผุสนานั้นก็คือการไม่กำหนดลมกระทบฐาน แต่เป็นการกำหนดรู้ตลอดตั้งแต่เข้าจนออก แล้วก็ไล่ไปเรื่อย ๆ ในลักษณะของการทรงฌานในระหว่างภาวนาบ้าง การกำหนดภาวนาเป็นชุด ๆ นับ ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ บ้าง แล้วแต่วิธีการว่าเราจะถนัดแบบไหน

    ดังนั้น...ถ้าหากว่าท่านไปอ่านเจอเนื้อหาที่มีความแตกต่าง ขอให้รู้ว่าหลักอานาปานสตินั้น พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ ทั้งในทีฆนิกายคือพระสูตรที่มีเนื้อหายาว และมัชฌิมนิกายพระสูตรที่มีเนื้อหาปานกลาง แล้วพระพุทธโฆษาจารย์ซึ่งเป็นนักแต่งตำรา ก็ยังเขียนตำราปกรณ์วิเสสที่ชื่อว่าวิสุทธิมรรค กล่าวถึงอานาปานสติไว้ มีรายละเอียดอย่างมาก จัดอยู่ในส่วนของสมาธินิเทสในวิสุทธิมรรค ดังนั้น...ท่านทั้งหลายจะอ่านไปตรงจุดไหนก็ตาม ถ้าหากว่าเห็นความแตกต่าง ขอให้รู้ว่าหลักการเหล่านั้น สามารถที่จะปฏิบัติแล้วก่อให้เกิดผลได้เหมือน ๆ กัน
     
  19. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,652
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,549
    ค่าพลัง:
    +26,387
    ถาม : การกำหนดอานาปานสติ กำหนดลมหายใจเข้าออก เราจะกำหนดอย่างไร ? บางทีแม้แต่ผมเองยังกำหนดไม่ทัน พอกำหนดแล้วรู้สึกว่าเราจะต้องเบ่งท้องให้ยุบ ให้พอง เบ่งท้องให้ผ่อนลม เพื่อให้ท้องยุบ ไปกำหนดที่ท้องพองยุบ เหมือนเรากับต้องไปบังคับ จะมีวิธีที่ให้เราสะดวก ไม่รู้สึกบังคับ จะทำอย่างไรดีครับ ?

    ตอบ : โดยปกติแล้ว ในการปฏิบัติธรรมเขาก็ไม่ให้บังคับ เพียงแต่ว่าเราตั้งใจมากจนเกินไป จะเอาให้ได้ อานาปานสตินั้นก็คือการที่เราเอาสติตามลมหายใจเข้าไป ตามลมหายใจออกมา ลมหายใจจะแรง จะเบา จะยาว จะสั้น ปล่อยให้เป็นธรรมชาติ เราแค่เอาความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป ไหลตามลมหายใจออกมา ถ้าเผลอไปคิดเรื่องอื่นเมื่อไร ก็ให้ย้อนกลับมาที่ตรงนี้ใหม่

    ในระยะแรก ๆ นั้น จะมีการชักเย่อกันอยู่ ก็คือใจเราอยากจะฟุ้งซ่านไปหา รัก โลภ โกรธ หลง ตามที่ตนเองชอบ ส่วนตัวเรารู้ว่าอานาปานสติมีความดีอย่างไร เราอยากจะทำ ก็ไปรั้งคืนมา แรก ๆ จะเหนื่อยมากครับ แต่ว่าหลังจากทำไป ๆ กำลังเราจะสูงกว่า แล้วจะสามารถตะล่อมให้ใจของตนเองอยู่กับคำภาวนาได้ง่าย เมื่อถึงตอนนั้นแล้ว เราก็ไม่ต้องใช้ความพยายามอะไรเลย แค่เอาสติประคับประคองลมหายใจเข้า ลมหายใจออกแค่นั้นก็พอ

    ดังนั้น...ท่านทั้งหลาย ถ้าหากเริ่มปฏิบัติในระยะแรก ให้เข้าใจว่าเราจะต้องไม่มีการบังคับลมหายใจเข้าออกอะไรเลยครับ ก็คือร่างกายต้องการหายใจเท่าไร เราปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ แค่เอาสติไหลตามเข้าไป ไหลตามออกมา ตามดูตั้งแต่ต้นทางไปจนสุด ตามดูตั้งแต่ออกจากท้องมาจนสุด เหล่านี้เป็นต้น ถ้าหากว่าทำอยู่แค่นี้ โดยที่ไม่ได้ใส่ใจอยากได้จนเกินไป สมาธิก็จะทรงตัวได้เร็ว
     
  20. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,652
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,549
    ค่าพลัง:
    +26,387
    ส่วนท่านที่อยากได้มากจนเกินไป ก็จะใช้ความพยายามมาก แล้วยิ่งพยายามมาก ด้วยความอยากก็ยิ่งฟุ้งซ่าน บุคคลที่กำลังใจฟุ้งซ่าน จะเข้าถึงสมาธิยากมากครับ ดังนั้น...ควรที่จะปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติทั้งหมด

    ส่วนที่อยากจะเพิ่มเติมให้ก็คือเด็กสมัยนี้ครับ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเด็กที่พลังงานล้นเกิน เป็นพวกไฮเปอร์แอคทีฟ อยู่นิ่งไม่ได้ สาเหตุใหญ่เลยเกิดจากพ่อแม่สมัยนี้ ด้วยความรักในลูก ทันทีที่รู้ว่าตั้งท้อง ก็พยายามหาสิ่งที่ดี ๆ มากินบำรุงเข้าไป พอคลอดออกมาแล้ว ก็ประเดประดังสารพัดวิตามินให้ กลายเป็นพลังงานสะสมอยู่ในร่างกายเด็กจำนวนมาก แต่สติสมาธิของเขามีแค่เด็กทั่วไปเท่านั้น ก็เลยแสดงออกในลักษณะของการอยู่นิ่งไม่ได้ กลายเป็นเด็กสมาธิสั้น ให้ความสนใจอะไรตรงหน้าไม่ได้นาน

    ตรงจุดนี้พ่อแม่แก้ได้ด้วยการพยายามเอาลูกไปสวดมนต์ไหว้พระด้วย การสวดมนต์ไหว้พระเป็นการสร้างสมาธิอย่างหนึ่ง เพราะถ้าหากว่าสมาธิเราเคลื่อนเราก็จะสวดผิด เมื่อสมาธิเบื้องต้นของเขาได้แล้ว มีความเคยชิน เริ่มอยู่นิ่งได้บ้างแล้ว เราก็สอนให้เขาภาวนา ในส่วนนี้ถ้าหากว่าเราสามารถทำได้ จะแก้อาการเด็กสมาธิสั้น แก้อาการไฮเปอร์ฯ ได้

    แต่ถ้าหากว่ายังทำไม่ได้ ก็สอนให้เขาเล่นกีฬาที่ต้องใช้ความเร็วสูง ๆ วิ่งแข่งขันก็ได้ หรือไม่ก็กีฬาที่ต้องออกกำลังมาก ๆ อย่างเช่นฟุตบอลก็ได้ ทำให้เขาใช้พลังงานให้เหนื่อย เมื่อเขาเริ่มเหนื่อยใกล้หมดสภาพแล้ว ถ้าเรานำเขามาฝึกปฏิบัติ เขาจะอยู่กับลมหายใจเข้าออกโดยอัตโนมัติ

    ท่านทั้งหลายจะสังเกตว่าเวลาเราเหนื่อยมาก ๆ ใจเราจะอยู่กับลมหายใจเข้าออก พยายามหายใจให้ทัน เพื่อที่จะได้หายเหนื่อย ตอนนั้นเราแค่ใส่สติลงไปก็เป็นอานาปานสติแล้วครับ
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...