สังคมชาวเวียดนามเริ่มเปลี่ยนแปลง รายได้สูงขึ้นเริ่มหันมาใช้

ในห้อง 'ข่าวทั่วไป' ตั้งกระทู้โดย zipper, 18 เมษายน 2005.

  1. zipper

    zipper เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กันยายน 2004
    โพสต์:
    5,226
    ค่าพลัง:
    +10,590
    ผู้จัดการรายวัน/AFP/VNS- สถิติระบุชาวเวียดนามมีรายได้สูงขึ้นกว่า 30% ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ สถิตินี้ได้รับการสนับสนุนจากปรากฏการณ์บนท้องถนนที่ผู้คนเริ่มนิยมใช้ของนอกแบรนด์เนม สวมสร้อยทอง ซื้อเครื่องสำอางราคาแพง และมือถือรุ่นใหม่ แต่ในขณะเดียวกันช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนก็เพิ่มขึ้นตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคใต้ของประเทศ

    รายได้เฉลี่ยของคนเวียดนามในปัจจุบัน เพิ่มขึ้น 36% จากปี 2544-2545 ซึ่งมีรายได้ต่อเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 448,000 ด่ง (30 ดอลลาร์) ขณะที่มาตรฐานความเป็นอยู่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อันเป็นผลจากนโยบายของรัฐบาลที่ให้เพิ่มเงินเดือนข้าราชการทั้งภาคบริหาร รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ ตลอดจนการใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบการตลาด หรือโดยเหม่ย (Doi Moi) ทั้งนี้เป็นรายงานของสำนักข่าววีเอ็นเอส ซึ่งอ้างข้อมูลการสำรวจของสำนักงานใหญ่สถิติ หรือ GSO

    เงินเดือนพนักงานในเมืองเพิ่มขึ้น 27.8% เป็น 795,000 ด่ง ส่วนรายได้ลูกจ้างในชนบทสูงขึ้น 36.9% เป็น 377,000 ด่ง เขตพื้นที่ภาคกลางมีอัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้สูงที่สุด เนื่องจากราคาพืชผลสูงขึ้น อาทิ กาแฟ และสินค้าการเกษตร รวมทั้งการสนับสนุนจากรัฐบาลในการจัดตั้งหน่วยการผลิต และสร้างบ้าน

    นโยบายของรัฐบาลได้ช่วยให้ประเทศลดอัตราความยากจนลงเหลือเพียง 7.8% จาก 9.9% ในปี 2544-2545

    ขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยของคนเวียดนามก็เพิ่มขึ้น 37.5% ในปี 2546-47 เป็น 370,000 ด่งต่อเดือน

    นายจิงตุ่งเยวือง (Trinh Tung Duong) นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ วัย 37 ปี เป็นหนึ่งในเวียดนามเลือดใหม่ที่มีรายได้สูง ใช้จ่ายได้อย่างอิสระในสินค้ามียี่ห้อและราคาแพง เขาสวมเสื้อยืดไนกี้ กางเกงยีนส์ลีวาย นาฬิกาจี-ช็อก และสวมสร้อยทอง คิดคำนวณเครื่องแต่งกายทั้งชุดตกราว 350 ดอลลาร์ หรือราว 14,000 บาท ทั้งนี้เป็นรายงานของสำนักข่าวเอเอฟพี
    นายเดืองให้เหตุผลว่า สินค้าต่างประเทศสวมใส่สบายกว่า คุณภาพแน่นอนว่าดีกว่าที่ผลิตในเวียดนาม มันทำให้เขาดูดีขึ้นเมื่อใส่เสื้อผ้าแบรนด์นอก

    แม้เวียดนามจะไม่ได้รับเอาระบบทุนนิยมเข้ามาอย่างเต็มรูปแบบ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ากำลังเริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจที่เน้นการตลาด สังคมเวียดนามได้ก้าวสู่ขั้นตอนสำคัญ หลังจากมีชีวิตอยู่อย่างสมถะมาเป็นเวลานาน

    เจ้าหน้าที่กองทุนต่างประเทศแห่งหนึ่งในนครโฮจิมินห์กล่าวว่า ในวันนี้ คนรวยที่พบเห็นในเวียดนาม เป็นคนเวียดนาม ไม่ใช่ชาวต่างชาติ ทว่าการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญไม่ใช่ในแง่จำนวนเงิน แต่เป็นด้านจิตใจของผู้คน เมื่อใครสักคนประสบความสำเร็จ ก็จะมองว่าคนนั้นดี

    ในด้านการบริโภค เวียดนามเป็นแนวหน้าในการเปิดรับอย่างรวดเร็ว ผู้หญิงจ่ายเงินเป็นร้อยๆ ดอลลาร์ เพื่อเครื่องประทินผิว ขณะที่ผู้ชายมีโทรศัพท์มือถือเทคโนโลยีล้ำหน้า ไนท์คลับบางแห่งนครโฮจิมินห์ มีรายได้คืนละ 15,000 ดอลลาร์ ส่วนใหญ่มาจากคนหนุ่มสาว ยอมควักเงินซื้อคอนยักราคาแพง ร้านอาหารและโรงแรมที่เคยเน้นบริการนักธุรกิจต่างชาติ เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับกลุ่มคนเวียดนามรายได้สูง

    ก่อนนั้นสาวเวียดนามจะดีใจมากเมื่อญาติส่งสบู่ลักซ์มาให้จากเยอรมัน ทุกคนในเมืองใหญ่มีชีวิตเหมือนกันๆ คือ ขี่จักรยานผลิตในเวียดนาม ถ้าไม่ใส่ชุดเครื่องแบบทหารก็สวมเสื้อทำงานสีเทา รถจักรยานยนต์ยังหาได้ยาก ส่วนรถยนต์ที่หรูที่สุดคือ รถจากสหภาพโซเวียต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของรัฐ

    แต่ปัจจุบัน หลังจากรัฐบาลใช้นโยบาย โดยเม่ย (doi moi) ซึ่งเปลี่ยนเศรษฐกิจไปสู่แบบการตลาด ชีวิตคนเวียดนามเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ศูนย์การค้าผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดในกรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์ ที่ซึ่งประชาชนจ่ายเงินมากกว่า 8,000 ดอลลาร์ เพื่อซื้อรถสกู๊ตเตอร์

    แม้ว่า 80% ของจำนวนประชากรทั้งหมด อยู่ในภาคการเกษตร แต่สินค้ายี่ห้อดังๆ อย่าง Nike, Christian Dior หรือ Gucci เป็นชื่อที่คุ้นเคยของคนเวียดนาม 82 ล้านคน ทั้งที่สินค้าแบรนด์ดังเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นของปลอม

    สินค้าแบรนด์เนมที่วางขายในเวียดนาม ส่วนใหญ่นำเข้ามาจาก จีน ไทย และสิงคโปร์ มีสินค้าต่างประเทศไม่กี่ยี่ห้อ อาทิ Louis Vuitton และ Benetton ที่เปิดสาขาอยู่ในตลาดบนของเวียดนาม

    อย่างไรก็ตาม แม้รายได้จะเพิ่มขึ้น แต่ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน สำนักข่าววีเอ็นเอรายงานอ้างข้อมูลของ GSO ว่า ในปี 2547 คนเวียดนามที่รวยที่สุดมีรายได้สูงกว่าคนที่ยากจนที่สุด 13.5 เท่า เทียบกับเมื่อ 2 ปีก่อนที่ตัวเลขอยู่ที่ 12.5 เท่า ทั้งนี้เป็นผลที่ได้จากการสำรวจชาวเวียดนาม 45,900 ครัวเรือนทั่วประเทศ

    ภาคใต้ของเวียดนามมีช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวยมากที่สุด ได้คนที่รวยที่สุดมีรายได้มากกว่าคนจน 14.4 เท่า ตามมาด้วยภาคกลาง อยู่ที่ 12.5 เท่า ส่วนพื้นที่ปากแม่น้ำแดง มีสัดส่วนช่องว่างคนรวยและคนจน 11.3%, พื้นที่ราบแม่น้ำโขง 10.5% และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10.4 %.
     

แชร์หน้านี้

Loading...