เรื่องเด่น อุบายชนะกามคุณ 5 โดยรวมครูบาอาจารย์สายศิษย์หลวงปู่มั่น

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย แดนโลกธาตุ, 7 กันยายน 2006.

  1. แดนโลกธาตุ

    แดนโลกธาตุ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 กันยายน 2006
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    7
    ค่าพลัง:
    +23,976

    อุบายชนะกาม.png

    อุบายชนะกามคุณ ๕


    หลวงปู่หลอด ปโมทิโต
    วัดสิริกมลาวาส เสนานิคม กรุงเทพ


    สิ่งที่นักปฏิบัติควรใส่ใจให้มาก คือต้องพยายามลดหรือพยายามเลิกละกามคุณทั้ง ๕ เพราะกามคุณเป็นศัตรูของจิตใจ ทำให้ใจเดือดร้อนวุ่นวาย เป็นทุกข์

    ถ้าทำใจให้สงบจากกามคุณทั้ง ๕ ได้ จึงจะพบคำว่า วิเวก (ความสงบ) แนวทางสำหรับปฏิบัติก็คือ ให้มองทุกสิ่งทุกอย่างว่า ล้วนตกอยู่ในกฎพระไตรลักษณ์ คือ ไม่มีอะไรที่จะคงสภาพอยู่เหมือนเดิม

    แต่จะต้องเปลี่ยนแปร มีลักษณะแฝงอยู่ที่เรียกว่าเป็นทุกข์ เพราะทนต่อสภาพอยู่อย่างเดิมไม่ได้ มีลักษณะที่เรียกว่าเป็นอนัตตา คือ ไม่มีจุดที่จะบังคับได้ว่า อย่า แก่ อย่าเจ็บ อย่าแปร รวมความคือ ทุกๆ สิ่ง ทุก ๆ อย่าง ล้วนมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และสลายไป การกำหนดได้อย่างนี้ ความยึดมั่น(อุปทาน) จะอ่อนกำลัง ถ้าความยึดมั่นอ่อนตัว ทุกข์ก็จะน้อยลง

    ถ้าจิตไม่ยึดมั่นเลย เช่นเห็นก็สักแต่ว่าเห็น ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน เป็นต้น ใจก็ไม่เป็นทุกข์
    น. ๒๐
    ข้าพเจ้าก็เจอมารทางจิตใจอย่างสาหัส มันโถมกำลังย่ำยี จนข้าพเจ้าแทบป่นปี้ ตั้งตัวไม่ติด มารที่ว่าคือ กามคุณ ๕ (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ) เกิดขึ้น ก่อกวนใจอย่างหนัก มีรูปและเสียงปรากฏทางนิมิตเสมอ จิตใจของข้าพเจ้าทุรนทุราย ร้อนรุ่ม อึดอัด หนักอึ้ง

    เป็นอาการที่แสนทรมาน เกือบจะเอาเพศบรรพชิตไปไม่ตลอด แต่แล้วสติปัญญา (ปัญญาบารมี) ที่รับการอบรมมาจากครูอาจารย์ ก็ผุดมาช่วยแก้ปัญหา ประมาณเดือนหนึ่ง ที่ข้าพเจ้าแสนทรมาน แต่แล้วก็ปลุกใจตนเองว่า ปัญหาคือสิ่งที่ต้องแก้ อุปสรรคคือสิ่งที่ต้องสู้ เราจะหาวิธีแก้มัน สู้มันให้สมกับการเป็นลูกผู้ชาย เป็นไงก็เป็นกัน ฉันจะไม่ยอมสยบต่อมาร

    ว่าแล้วก็กำหนดหาวิธีแก้แบบอัตโนมัติ ตามแต่จะคิดได้ ครั้งแรกกำหนดหลักการว่า จะฉันให้น้อยพออยู่ได้ แต่จะเดินจงกรมทั้งวัน เพื่อเป็นการทรมานให้เมื่อยเพลีย จิตใจจะได้ไม่มีโอกาสคิดถึงรูปเสียง... ขั้นตอนในการปฏิบัติคือ ฉันเช้าเสร็จ พอล้างบาตรเสร็จเรียบร้อย ก็เข้าห้องไหว้พระให้ใจสบาย พร้อมกับขอให้บารมีพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ได้ช่วยบันดาลให้จิตใจของข้าพเจ้าพบความเบา ความสว่าง ความสงบ ให้จิตได้คลายจากกามคุณทั้ง ๕ จากนั้นก็เข้าสู่ที่จงกรม

    พอ ๓ โมงเช้าก็เริ่มเดินจงกรม เดินไปเดินมาอยู่อย่างนั้น จนถึง ๕ โมงเย็น ก็เลิกเดิน แล้วไปทำกิจวัตรประจำวัน ตั้งใจว่า ทำอยู่อย่างนั้น ถ้าครบ ๑๕ วันแล้วไม่ได้ผล ก็จะเปลี่ยนวิธีใหม่
    ทำความเพียรเพื่อทรมานตนโดยไม่ยอมถอย แม้ว่าฝนจะตกแดดจะออกครบ ๑๕ วันแล้วก็ยังไม่ได้ผล กามคุณมิได้เพลาเลย แต่กลับยิ่งกำเริบ
    ปัญญาบารมีช่วยข้าพเจ้าให้พ้นจากบ่วงมาร

    ทรมานตนให้ลำบากครบ ๑๕ วันแล้ว กามคุณก็ยิ่งกำเริบ เลยนึกได้ว่า ทุกขกิริยานั้นมิใช่ทางประเสริฐ ฉะนั้น กิเลสจึงมิได้ลดละ ต่อไปนี้เราควรใช้ หลักสติปัฏฐานเข้าแก้ปัญหาดู นั่นคือ จะคอยติดตามดูจิตอยู่ทุก ๆ ขณะ จิตคิดไปไหน เราจะตามกำหนดรู้จิตมันอยู่อย่างไร เราจะตั้งใจดูอาการอยู่ของจิต ถ้ามันร้อน มันร้อนยังไง และมันร้อนเพราะอะไร ถ้าจิตรู้สึกสบาย ก็จะกำหนดดูว่ามันสบายอย่างไง จะคอยควบคุมให้สติสัมปชัญญะอยู่กับจิตตลอดเวลาโดยไม่ลดละ ถ้ามันหาเรื่องหาราวที่เป็นทุกข์ใส่ตัว เราก็จะพยายามรู้ มันใฝ่ไปทางดี ทางเสีย เราก็ตามรู้

    พอพยายามอยู่อย่างนั้นทุก ๆ ขณะ ได้ประมาณ ๓๐ นาที จิตเริ่มเบา เย็น สงบ ข้าพเจ้าอุทานในใจ ด้วยความดีใจว่า นี่ถูกวิธีแล้ว ๆ

    จากนั้นก็เกิดอาการภูมิใจ อิ่มใจ ปลื้มใจจนขนลุกขนชัน และก็ยิ่งมีกำลังใจ จึงตามดูจิตอย่างหนักยิ่งขึ้นกว่าเดิม ผลก็ยิ่งคืบหน้า คือจิตยิ่งสบาย ๆ จนในที่สุดก็ปกติเหมือนเมื่อครั้งก่อน ๆ มา สำหรับข้าพเจ้าเอง เมื่อมีปัญหาทางจิต ก็ใช้แนวทางของสติปัฏฐานในการแก้ปัญหา และก็ได้ผลดีเสมอมา นี่คือประสบการณ์ที่เกิดขึ้นโดยตรงกับตนเอง แต่นักปฏิบัติทั้งหลายไม่ควรปลงใจเชื่อข้าพเจ้าทันที เพราะอุปนิสัยและบารมีของแต่ละบุคคลนั้นไม่เหมือนกัน

    วิธีการแก้ปัญหาที่ได้ผลจึงอาจจะแตกต่างกันไป ถึงอย่างไรด้วยความหวังดีต่อกัน ข้าพเจ้าใคร่ขอเสนอแนะต่อผู้ปฏิบัติว่า เมื่อท่านเจอมารทางกายหรือมารทางใจก็ตาม ท่านจงตั้งสติให้ดี อย่าให้หวั่นไหว อย่าให้สติรวน จงควบคุม ความคิดของตัวเองให้มั่นคง อย่าให้หวั่นไหว อย่าให้คลอนแคลน แล้วค่อย ๆ คิดหาวิธีแก้ปัญหานั้นด้วยความใจเย็น และให้สุขุมรอบคอบที่สุด

    โดยเฉพาะต้องใช้ขันติและความฉลาดให้มากเป็นพิเศษ เมื่อกำหนดหลักการในการแก้ปัญหาได้แล้ว ก็ให้ดำเนินการแก้ปัญหาตามหลักการที่กำหนดไว้นั้นด้วยความมีสัจจะที่แน่นอน และมั่นคงว่า จะทดลองแก้ปัญหานั้นตามหลักการนั้น ๆ สักกี่วันก็พยายามทำให้ได้ตามที่ตั้งใจ ถ้าไม่ได้ผลโดยวิธีปฏิบัติเช่นนั้น ท่านก็จะพบวิธีใดวิธีหนึ่งในใจของท่านเองจนได้ เพราะจิตที่ศึกษาสภาพ ย่อมจะเกิดการรู้ผลไปโดยอัตโนมัติ

    ที่ว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เองก็โดยอาศัยหลักค่อยทำ ค่อยปฏิบัติ ค่อยติดตามดูจิตนั่นเอง เอาจิตศึกษาจิต แล้วก็เกิดความรู้สึกที่เป็นสภาวธรรม โดยผู้นั้นจะรู้ด้วยตนเองดีว่า สภาพจิตนั้นมันเป็นอย่างไร (ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ)
    สาระทางธรรมประดับแง่คิด

    ศีล สมาธิ ปัญญา จะเกิดมีในตัวเรา ก็ต้องปฏิบัติหรือเจริญธรรมตามหลักอริยมรรค จึงจะคลายหรือถอนกิเลสได้ ถ้าเพียงแต่อ่านหรือศึกษา ก็ให้ผลดีเพียงขั้นต่ำ คือ ก่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ ความซาบซึ้ง รู้ว่าอะไรควรและไม่ควร ถึงจะละราคะ โทสะ โมหะ ได้นิดหน่อย ด้วยเหตุที่ยังรู้สึกละลายต่อความรู้อยู่บ้าง ผลของการเรียนรู้ก็ คงช่วยทำให้เป็นคนดีระดับกัลยาณชน ราคะ โมหะ โทสะ ยังมีอยู่ในใจ และจะแสดงอาการเป็นครั้งคราว จิตใจก็มืดเป็นครั้งคราว ไม่มืดตลอดชีวิต ก็ยังนับว่าดีอยู่บ้าง

    เมื่อเดินทางต้องอย่าหลงทิศทาง เพราะถ้าหลงทิศ และเดินไปตามทางที่ตนหลงนั้น ก็ยิ่งนับวันจะไกลจุดหมาย ถ้าหลงทิศแล้วก็ยืนอยู่กับที่คอยถามคนอื่นที่เดินผ่านมา เมื่อแน่ใจก่อนจึงค่อยเดินต่อไป อย่างนี้มีโอกาสถึงเป้าหมายได้ ข้อนี้ฉันใด นักปฏิบัติธรรมที่ดี ก็ไม่ควรหลงหลักสัจธรรม เช่นที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ภิกษุไม่ควรเกี่ยวข้องกับที่สุด ๒ อย่าง

    คือ การมัวเมาหมกมุ่นอยู่กับกามคุณ ๕ (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ) และไม่ควรทรมานตนให้ตึงเกินไป เช่น อดข้าว อดน้ำ เป็นสิบๆ วัน จนเกือบตายเป็นต้น
    ใครก็ตามที่ลืมหลักสำคัญที่ว่ามา คนนั้นประสบทุกข์แน่ๆ ยิ่งมั่วยิ่งเสพกามคุณ ๕ เท่าไร ความเป็นตัวของตัวก็ยิ่งหมดไป ใจจะติดหรือตกเป็นทาสของสิ่งนั้นๆ

    โดยหมดความเป็นอิสระในตัว เหมือนคนเสพฝิ่น ยิ่งเสพยิ่งติด หิวและหงุดหงิดอยู่เรื่อย นี่คืออาการของคำว่าติด คนที่ติดกามคุณก็เช่นเดียวกันถ้าพิจารณาด้วยสติปัญญาแล้ว จะเห็นได้ว่าผู้นั้นเป็นผู้ที่น่าสงสารเหลือเกิน เพราะบางคนติดมาก จนได้แต่หวง หึง และเป็นทุกข์ทรมานจิตใจ เป็นแรมเดือน แรมปีก็มี

    แต่ก็อย่างว่านั่นแหละ คนที่เมาเหล้าก็ไม่เคยสมเพชตัวเอง คนที่เมากามคุณก็ไม่เคยสลดใจตนเองฉันนั้น ถ้าอยากมีความสุขแท้จริง หรือสุขที่บริสุทธิ์ปลอดภัย ให้ดำรงตนอยู่ในขอบเขตของศีล สมาธิ ปัญญา อย่ากระทำ พูด คิด ในทางที่ขัดต่อ ศีล สมาธิ ปัญญา อีกนัยหนึ่งก็คือ ให้ปฏิบัติตนตามหลักอริยมรรค ๘ อย่าใช้ชีวิตในทางที่ขัดต่อมรรค ๘ ชีวิตท่านจะพบความสุขใจ ความเอิบอิ่มใจ ที่บริสุทธิ์อย่างแน่นอน
    น.๓๑- ๓๔

    คัดลอกจาก: ชีวประวัติ หลวงปู่หลอด ปโมทิโต



    พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ
    วัดเจติยาศีรี ภูทอด กิ่งอำเภอศรีวิไล จ.หนองคาย


    ครั้งนั้น... ปี พ.ศ.๒๔๙๓
    พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ พรรษาที่ ๘ ท่านไปจำพรรษที่ถ้ำพวง อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร...

    ...ณ. ถ้ำพวงแห่งนี้ ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ก็ได้เผชิญกับอันตรายจาก "มาตุคาม" อีก ครั้งหนึ่ง ซึ่งท่านได้เล่าให้บันทึกไว้เพื่อเป็นประโยชน์ เป็นสติ ปัญญาแก่พระภิกษุ สามเณรทั่วไป...

    ข้อความที่ท่านให้บันทึกไว้มีดังนี้

    อยู่ต่อมา ได้มีพวกญาติโยม พ่อออก แม่ออก สีกาสาวขึ้นไปเที่ยวชมถ้ำพวงมากขึ้น บางคนก็ไปส่งเสบียงอาหาร ญาติของสามเณรคนหนึ่งเป็นหญิงสาวไปส่งอาหารถวายพระทุกวัน เขาไม่ได้ส่งแค่อาหาร หากแต่ส่งสายตามาให้ด้วย ทำตาหวานหยาดเยิ้ม สายตาของเขา ลิด... ลิด

    ลิด แรกๆ ก็ไม่รู้สึกอะไร แต่มองตาหวานทุกวัน ๆ ก็เกิดความรักความยินดีในหญิงนั้น เห็นนัยน์ตาของเขาว่างาม ว่าสวย ความจริงเขาอาจจะมีกิริยาอ่อนหวาน ทำตาหวานเช่นนั้นเองตามประสาหญิงสาว แต่ตัวเราไปหมายนัยน์ตาของเขาเอง หลายวันเข้าจิตก็เกิดยินดีในสายตาของเขา

    เวลาภาวนาเคยพิจารณากระดูกของข้าพเจ้าเอง มองเห็นแจ่มชัด กำหนดลงไปทีไรก็เห็นกระดูกของเราชัดแจ้งอยู่ดังนั้น แต่คราวนี้ภาวนาไป พิจารณากรรมฐานไปกลับมองไม่เห็นกระดูกอกของเรา เห็นแต่สายตาของสีกามาซับซาบอยู่ในจิต เห็นแต่ความงามของรูปร่างหน้าตาของเขาลอยวนเวียนแทนหมด จิตไม่สงบ พยายามแก้ไขอย่างไรก็ไม่เป็นผล ภาวนาทีไรก็เห็นแต่ตาหวานของเขาทุกทีจิตไปจดจ่ออยู่แต่สายตาลิด... ลิดๆ ของเขา

    เผอิญมีโยมผู้ชาย ๒ คน ขึ้นมาสนทนาด้วย คือ พ่อออกเล็กและพ่อออกนิลมาเล่าว่า มีคนมาฆ่าช้างตายอยู่ไม่ไกลนักและเวลานี้ เขากำลังเผาซากช้างนั้น ข้าพเจ้าจึงถามว่ามีกระดูกช้างเหลือบ้างไหม เขาตอบว่ามี จึงบอกเขาว่าจะขอกระดูกขาช้างสักท่อนหนึ่ง จะเอามาทำยาแก้โง่ เขาก็รับคำและลาไปเอากระดูกช้างมาให้ ที่ซึ่งช้างตายนั้นอยู่ไม่ไกลจากถ้ำที่ข้าพเจ้าอยู่ ห่างกันเพียง ๓ เส้น ดังนั้นประเดี๋ยวเดียวโยมก็แบกกระดูกขาช้างกลับมาท่อนหนึ่ง ยาวสักศอกหนึ่งได้

    ข้าพเจ้าจึงเอาฝ้ายมาฟั่นทำเป็นเชือกร้อยกระดูกขาช้างท่อนนั้น แล้วก็เอาขึ้นมาแขวนคอตนเองไว้ แขวนไว้ตลอด เวลาเดินจงกรมก็แขวนไว้ที่คอ นั่งภาวนาก็แขวนไว้ที่คอ แขวนมันอยู่เช่นนั้นไม่ยอมถอดออก แล้วก็สอนตัวเองว่า "เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้นั่ง เอากระดูกมาแขวนคออย่างนี้แหละ ถ้าเธอภาวนาไม่เห็นร่างกระดูกไม่เห็นกระดูกในตนของตนแล้ว เราจะไม่ปลด ไม่เปลื้อง ไม่แก้ออกให้ แขวนมันอยู่อย่างนี้ ! รู้จักไหมกองกระดูก กระดูกภายนอก กระดูกภายในมันก็เหมือนกัน เราก็เป็นสัตว์ตัวหนึ่ง"

    ข้าพเจ้าเทศน์ให้มันฟัง มันอยากจิตไม่สงบ มัวแต่ไปหมายสายตาของเขาอยู่อย่างนั้นและเกิดอุบายว่า "ธรรมดาถ้าควายตัวไหนมันดื้อ มันด้านไปบุกรั้วเขา ไปเข้ากินพืชผักในสวนของเขา ไม่เชื่อฟังเจ้าของเขาก็จะต้องแขวนไม้ไว้ทรมานมัน... อย่างนี้แหละ เธอก็เหมือนกัน จิตมันดื้อมันด้านไปหมายสายตาของเขาว่าดี ว่าสวยอย่างนั้นอย่างนี้ เราจึงต้องเอากระดูกช้างมาแขวนคอแก้จิตดื้อด้านของตัวเองบ้าง เดินจงกรมก็แขวน นั่งภาวนาก็แขวน แขวนมันอยู่อย่างนั้น เว้นเสียแต่นอนถ้าเธอไม่แก้ไขตัวเอง"
    "ถ้าจิตเธอไม่สงบ ไม่ถอนจากสายตาของเขา เราเป็นไม่แก้ให้"

    ข้าพเจ้าให้โอวาท ทรมานมัน บางทีเวลาฉันหมากบ้วนน้ำหมากไปถูกกระดูกช้างกระดูกก็แดงเหมือนเลือด ข้าพเจ้าแขวนกระดูกช้างไว้เช่นนั้น จนกระทั่งจิตสงบไม่มีความรู้สึกในสีกาคนนั้นอีกแล้ว จึงยอมถอดกระดูกนั้นออกจากคอ

    ระหว่างที่ยังคงเอากระดูกช้างแขวนคอเดินจงกรม นั่งภาวนานั่นแหละ วันหนึ่งท่านอาจารย์เพ็ง เตชะพโล มาเห็นข้าพเจ้าเอากระดูกช้างแขวนคอเดินจงกรมภาวนา ท่านก็หัวเราะก้ากใหญ่เลย คงคิดว่าข้าพเจ้ามีสติวิปลาสไปแล้ว พอรุ่งเช้าลงไปบิณฑบาตท่านอาจารย์เพ็งจึงไปกราบเรียนหลวงปู่ขาวที่จำพรรษาอยู่ตีนเขาภูเหล็ก คือที่หวายสะนอยนั่นเองว่า "ครูบาจวนเอากระดุกช้างมาแขวนคอเดินจงกรมและนั่งภาวนา และก็เคี้ยวหมากบ้วนน้ำหมากลงรดกระดูกช้างเป็นสีแดงจ้า ครูบาจวนทำอย่างนั้น เห็นจะเป็นบ้าไปแล้ว วิปริตไปเสียแล้ว"

    หลวงปู่ขาวได้ฟังดังนั้น จึงได้นิ่งพิจารณาและตอบว่า "ฮ้าย...ไม่ใช่เป็นคนบ้า ไม่ใช่คนวิปริตหรอก อันนี้เป็นอุบายของท่านต่างหาก ท่านคงมีเหตุจำเป็น จึงต้องใช้อุบายนี้ คนบ้าคงจะไม่ทำอย่างนี้ นี่เป็นอุบายสำหรับทรมานของท่านต่างหาก คงจะเพราะเหตุใดเหตุหนึ่ง เราควรคอยรอฟังกันไปก่อนอย่าเพิ่งเข้าใจว่าท่านเป็นบ้าเลย"
    ครั้นข้าพเจ้าจิตสงบเป็นปกติ จิตจืดจางจากสายตาหวานของหญิงสาวผู้นั้น การภาวนาก็ดี จึงเอากระดูกช้างออกจากคอ แล้ววันหนึ่งก็ไปกราบนมัสการหลวงปู่ขาว อนาลโย ท่านก็ทักและถามว่า

    "ท่านจวน ทำไมจึงเอากระดูกช้างไปแขวนคอเดินจงกรมและนั่งภาวนา"

    ข้าพเจ้าก็เลยเรียนถวายท่านว่า "ขณะนั้นสีกาสาวที่บ้านโพนสว่าง เขามาส่งอาหารแทบทุกวัน เขามาส่งสายตาให้ทำตาหวานใส่ หลายวันเข้าก็ไปหมายสายตาของเขาทำให้จิตใจไม่สงบ ฉะนั้นกระผมจึงหาอุบาย เอากระดูกช้างมาแขวนคอเดินจงกรมและภาวนา เพื่อทรมานมัน ตอนก่อนนั้นกระผมพิจารณากระดูกอกตัวเอง เห็นไม่ชัดเจน พอมาคิดถึงสายตาของสีกาสาวเข้า ทำให้ไม่สามารถพิจารณากระดูกอกของตัวเองได้ จึงเอากระดูกช้างซึ่งเป็นกระดูกสัตว์เหมือนกัน มาเป็นสักขีพยานแขวนคอภายนอก เพื่อน้อมเอากระดูกที่แขวนคออยู่ภายนอกและกระดูกที่แขวนคออยู่ภายในก็เป็นกระดูกสัตว์เหมือนกัน ทำไม่ท่านจึงไม่เห็น ถ้าท่านไม่เห็น เราก็ไม่แก้ออกให้

    นี่แหละท่านไปหมายเอาสายตาของเขา โบราณท่านว่า...เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้นั่ง กระดูกแขวนคอ ต่องแต่ง...ต่องแต่ง... อย่างนี้ และกระผมก็ได้อุบายสอนตนอีกว่า ธรรมดาควายตัวไหนมันห้าว มันคะนอง มันดื้อ มันดัน มันไปบุกรุก ทำลายเรือกสวนของคนอื่นเขา เขาต้องทรมานมัน เอาไม้ยาวๆ มาแขวนคอมันเพื่อให้มันละพยศอันร้าย เมื่อมันละพยศอันร้ายแล้วเขาจึงเอาไม้ออกจากคอมัน"

    หลวงปู่ขาวท่านก็เลยย้อนถามว่า
    "เมื่อท่านทำเช่นนี้แล้ว เป็นอย่างไรได้ผลไหม สงบไหม"

    ข้าพเจ้าจึงเรียนท่านว่า
    "ได้ผลครับ ได้ผลดี หายเลย จิตสงบดีแล้ว ผมจึงปลดออกแก้ออกจากคอคนเอง
    ท่านหัวเราะใหญ่ และชมว่า
    "แหม... อุบายอย่างนี้ชอบกลนัก ดีมาก ผมยังคิดไม่ได้เลย เมื่อท่านเพ็งมาบอกผมว่า ท่านจวนเป็นบ้า จิตวิปริต เอากระดูกช้างแขวนคอเดินจงกรมและนั่งภาวนา ผมก็ยังไม่เชื่อ อุบายอย่างนี้แปลกประหลาดจริงๆ ดีนัก ได้ผลดี!"


    หลวงปู่แหวน สุจิณโณ
    วัดดอยแม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่


    บุพเพสันนิวาสอันเหลือเชื่อของหลวงปู่แหวน
    ...หลวงปู่ว้าวุ่นใจเป็นอย่างยิ่ง จิตที่เคยควบคุมบังคับให้สงบนิ่งได้ก็เกิดปรวนแปรไป ความคิดคำนึงคอยแต่จะโลดแล่นซัดส่ายไปหาหญิงงามอย่างเดียว ทำให้หลวงปู่แหวนเกิดความหวาดกลัวตัวเองเป็นอย่างยิ่ง ขืนอยู่ต่อไปอาจจะพ่ายแพ้ต่อกิเลสเมื่อไหร่ก็ได้

    ดังนั้น
    หลวงปู่แหวนจึงตัดสินใจเก็บบริขารทั้งหลายเดินทางกลับประเทศไทยอย่างฉับพลันทันที เมื่อข้ามแม่น้ำโขงสู่ผืนแผ่นดินมาตุภูมิแล้วก็มุ่งหน้าขึ้นไปทางอำเภอศรีเชียงใหม่ ระหว่างเดินทางหนี "มาตุคาม" ซึ่งเป็นเนื้อคู่บุพเพสันนิวาสมาแต่ชาติปางก่อน จิตใจของหลวงปู่ยังโลดแล่นไปหาสาวงามเกือบตลอดเวลา เป็นความรู้สึกที่ฟุ้งซ่านที่รุนแรงร้ายกาจสุดพรรณนาทีเดียว

    หลวงปู่แหวนเดินทางมาถึงพระบาทเนินกุ่ม หินหมากเป้ง จึงหยุดยั้งอบรมตนอยู่ ณ ที่นี้ และก็เป็นวาสนาของหลวงปู่ที่ได้พบกับท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งท่านได้ปลีกตัวออกจากหมู่คณะมาบำเพ็ญภาวนาอยู่ในบริเวณนั้นพอดี

    หลวงปู่แหวนมีปีติยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้พบกับท่านอาจารย์ใหญ่
    การได้มาพักอบรมตนอยู่ใกล้กับท่านพระอาจารย์มั่นก่อนเข้าพรรษาปีนั้น ทำให้หลวงปู่แหวนระงับความฟุ้งซ่านลงได้ไม่น้อย แม้กระนั้นภาพของหญิงงามก็ยังปรากฏเป็นครั้งคราว ทำให้ดวงจิตหวั่นไหวอยู่เสมอ แต่เมื่อเร่งภาวนายิ่งขึ้นภาพนั้นก็สงบระงับไป หากพลั้งเผลอเมื่อใดภาพสาวงามก็จะผุดขึ้นมาอีก

    หลังจากเข้าพรรษาแล้ว หลวงปู่แหวนได้ตั้งใจปรารภความเพียรอย่างหนัก การเร่งความเพียรอย่างเต็มที่ทำให้จิตสงบอย่างรวดเร็ว ทรงตัวสู่ฐานสมาธิได้ง่าย ไม่วุ่นวายฟุ้งซ่านอีก คล้ายกับจิตมันยอมสยบราบคาบแล้ว และเกิดอุบายทางปัญญาพอสมควร
    แต่หลวงปู่หารู้ไม่ว่า ยิ่งเร่งความเพียรเอาจริงเอาจังหนักขึ้นเท่าใด กิเลสที่แสร้งสงบนิ่งก็เริ่มต่อต้านเอาจริงเอาจังมากขึ้นเท่านั้น คราวนี้แทนที่จะควบคุมจิตให้ดำเนินไปตามทางที่ต้องการ มันกลับเตลิดโลดแล่นไปหาสาวงามที่บ้านนาสอง ริมฝั่งแม่น้ำงึมอีก และครั้งนี้พลังของกิเลสดูจะรุนแรงยิ่งกว่าเดิม

    หลวงปู่แหวนพยายามหาอุบายธรรมต่างๆ มาปราบเจ้าตัวกิเลสที่ฟูขึ้นมา แต่ไม่สำเร็จ หลวงปู่เล่าว่า

    "ยิ่งเร่งความเพียร ดูเหมือนเอาเชื้อไปใส่ไฟ ยิ่งกำเริบหนักเข้าไปอีก เผลอไม่ได้เป็นต้องไปหาหญิงนั้นทันที บางครั้งมันหนีออกไปซึ่งๆ หน้า คือขณะที่คิดอุบายการพิจาณาอยู่นั้นเอง (จิต) มันก็วิ่งออกไปหาหญิงนั้นซึ่งๆ หน้ากันเลยทีเดียว" โอ... "มาตุคาม" นี้อันตรายนัก และหากเป็นบุพกรรมอันผูกพันร้อยรัดอยู่ด้วยบุพเพสันนิวาสเข้าไปอีก การเอาชนะเพื่อยุติกรรมยิ่งลำบากยากเข็ญเป็นที่สุด"

    หลวงปู่แหวน ไม่ยอมพ่ายแพ้ต่อพลังกิเลสกองนี้โดยเด็ดขาด อุบายการปฏิบัติธรรมทุกอย่างถูกนำมาใช้เพื่อต่อสู้กับกิเลสมารสุดชีวิต เช่น เว้นการนอนเสีย มีเฉพาะอิริยาบถนั่ง เดิน ยืน เท่านั้น หลวงปู่แหวนทรมานจิตมันอยู่หลายวันหลายคืน พร้อมกันนั้นก็พิจารณาดูว่าจิตยอมอยู่ใต้บังคับหรือไม่ มันคลายความรักต่อหญิงงามคนนั้นหรือไม่

    ทำถึงอย่างนี้แล้วกลับไม่ได้ผล เพราะเผลอเมื่อไหร่ จิตมันจะโลดทะยานไปหาหญิงนั้นอีก

    เอาใหม่...เมื่อจิตมันยังรัดรึงอยู่กับ "มาตุคาม" ไม่ยอมปล่อย ยอมคลาย หลวงปู่จึงตัดอิริยาบถนั่งกับนอนทิ้งไป เหลือยืนกับเดินจงกรม กระทำความเพียรเช่นนี้ทั้งวันทั้งคืน

    แต่จิตมันก็ยังแส่ส่ายไปหาหญิงงามไม่ยอมหยุด ยิ่งทรมานมันมากเท่าไหร่ ดูเหมือนว่ามันจะดื้อรั้นโต้ตอบมากเท่านั้น

    คราวนี้เปลี่ยนวิธีใหม่อีก... ไม่ฉันอาหารมันล่ะ เหลือแต่น้ำอย่างเดียว ถ้าจิตมันยังดื้อถือดี ยังทะยานเข้าหากองกิเลสไม่ยอมเลิกรา หลวงปู่ตั้งเจตนาว่า ตายเป็นตาย ให้มันรู้ไปว่าจิตได้พ่ายแพ้แก่อำนาจกิเลสอย่างราบคาบแล้ว

    หลวงปู่แหวนเพ่งพิจารณาหาอุบายกำราบจิตใหม่โดยการเพ่งเอาร่างกายของหญิงงามนั้นยกขึ้นมาแล้วพิจารณากายคตาสติ แยกอาการ ๓๒ นั้นทีละส่วน โดยอนุโลม ปฏิโลมเทียบเข้าหากายของตน พิจารณาละเอียดให้เห็นตามความเป็นจริงว่า อวัยวะแต่ละส่วนของหญิงนั้นก็มีเหมือนกันทุกอย่าง จะผิดแผกแตกต่างกันก็ด้วยลักษณะแห่งเพศเท่านั้น

    หลวงปู่ทรงสมาธิแล้วพิจารณาอยู่เช่นนั้นกลับไปกลับมา ปัญญาก็เกิดขึ้น ปัญญาพิจารณา กายคตาสติ ไปจนถึงหนังถ้าถลกหนังที่ห่อหุ้มเนื้อออกจนหมด ความจริงก็ปรากฏทันที นั่นคือเนื้อกายซึ่งปราศจากผิวหนังห่อหุ้มอยู่ย่อมีสภาพที่ไม่น่าดู หรือ ดูไม่ได้เอาเสียเลย เพราะเหลือแต่เนื้อแดง ๆ เยิ้มด้วยน้ำเหลือง มีเส้นเลือดผุดพราวไปทั่ว "ตัวรู้" ก็บอกว่าหากหญิงงามไม่มีหนังหุ้ม เหลือแต่เนื้อแดง ๆ ใครเล่าจะพิศวาสได้ลงคอ

    อ้อ... คนเรามา "หลง" อยู่ตรง "หนัง" นี่เอง

    ปัญญาเพ่งพินิจต่อไปอีกจนเห็นความเน่าเปื่อยแล้วก็สลายกาย เป็นกองเนื้อเน่า ๆ และกองกระดูกเท่านั้นเอง ไม่มีอะไรตั้งอยู่ทรงสภาพเดิมไว้ได้อีก ไม่มีส่วนไหนจะคงอยู่ได้เลย

    ปัญญาเพ่งต่อไปถึง มูตร (ปัสสาวะ) และ กรีษ (อุจจาระ) ของหญิงงาม ปัญญาก็ตั้งคำถามอีกว่า ที่หญิงงาม น่ารัก น่าพิศวาสนั้น มูตรกับกรีษงามด้วยหรือเปล่า กินได้ไหม เอามาตระกองกอดได้ไหม "จิต" ตอบว่า "ไม่ได้"

    ปัญญาก็ตั้งคำถามอีกว่า เมื่อกินไม่ได้ เอามาตระกองกอดไม่ได้ แล้วอันไหนล่ะที่ว่างาม อันไหนที่ว่าดี

    จิตโดนปัญญาซักฟอกอย่างหนักเช่นนั้นก็ตอบไม่ได้ หาเหตุผลมาโต้แย้งไม่ได้ จิตมันก็อ่อนลงเพราะจนด้วยเหตุผลของปัญญา ก็ต้องยอมรับความเป็นจริง ยอมสารภาพผิดแต่โดยดี
    จิตซึ่งเคยโลดแล่นแส่ส่ายออกไปตามวิสัยความอยากของมันก็พลันถึงความสงบ ไม่กำเริบร้อนเร่าอีก
    หลวงปู่แหวนยังไม่วางใจจิตนัก ท่านจึงทดสอบโดยส่งจิตไปหาหญิงงามบ้านนาสอง ริมฝั่งแม่น้ำงึมหลายครั้ง แต่จิตก็ไม่ยอมโลดแล่นไปอีก จิตคงทรงอยู่ในความสงบเพราะได้เห็นความเป็นจริงของธรรมแล้ว

    การอดอาหาร และทำความเพียรอย่างยิ่งยวด เพื่อเอาชนะกิเลสมารของหลวงปู่แหวนครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์ จิตของท่านรู้แจ้งเห็นจริงในภัยของมาตุคาม อย่างทะลุปรุโปร่งและสิ้นพยศตั้งแต่นั้น...ตลอดไป
    (ข้อมูลจากหนังสือ "อนุสรณ์หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ)
    คัดลอกบางส่วนจาก : มาตุคาม มหาภัยพรหมจรรย์
    นที ลานโพธิ : รวบรวม/เรียบเรียง

    หลวงปู่หลุย จันทสาโร
    วัดถ้ำผาบิ้ง อ.วังสะพุง จ.เลย


    รอยกรรมอันเนื่องมาจากบุพเพสันนิวาส

    "ภิกษุ" หมายถึง ชายผู้ได้อุปสมบทแล้ว เป็นผู้มองเห็นภัยในสังขารหรือผู้ทำลายกิเลส มีพระธรรมวินัยควบคุม กาย วาจา ใจ ให้อยู่ในกรอบสมณะธรรม เพื่อปฏิบัติจิตให้เกิดสมาธิ ปัญญา กระทั่งหลุดพ้นจากอาสวะกิเลสทั้งหลายได้สำเร็จเด็ดขาด ไม่ย้อนกลับมาเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารอีก

    การต่อสู้ห้ำหั่นเพื่อประหารกิเลสให้หมดสิ้น เป็นภาวะอันหนักหนาแสนสาหัสสุดยอด ต้องอาศัยความตั้งใจมั่น มีความมั่นคงแน่วแน่ และมีความเพียรพยายามอย่างถึงที่สุด

    กิเลสทั้งหลายที่ภิกษุจะเอาชนะได้ยากที่สุด ลำบากยากเข็ญที่สุด กว่าจะหลุดพ้นไปได้อย่างสำเร็จเด็ดขาด คือกิเลสอันเนื่องจากมาตุคาม หรือ ผู้หญิงนี่แหละ
    มีพระภิกษุไม่ว่าจะอยู่ในสมัยพุทธกาล หรือสมัยปัจจุบัน ได้พ่ายแพ้ให้แก่ ภัยมาตุคามมาแล้วมากมาย ด้วยเหตุนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้กำหนดพระวินัยเอาไว้โดยละเอียด เพื่อภิกษุทั้งหลายจะได้พึงสังวรระมัดระวัง และตัดขาดจากมหาภัยนี้ได้สำเร็จ

    อันที่จริง ใช่ว่ามาตุคามจะคอยจ้องทำลายพรหมจรรย์แห่งสมณะเพศก็หาไม่ หากเป็นกิเลสกามที่ซับซ่านอยู่ในกมลสันดานของสัตว์โลก เป็นตัวผลักด้นให้อารมณ์เตลิด โลดเถลิงไปกับอำนาจของมันเป็นสำคัญ

    อีกประการหนึ่ง เนื่องจากอดีตกรรมที่เคยกระทำมาในบุพชาติ โดยเฉพาะในข้อ บุพเพสันนิวาส การเคยเป็นเนื้อคู่กัน การเคยอยู่ร่วมกันในชาติก่อน ดังนั้น เมื่อใดที่บุพเพสันนิวาสเวียนวนมาปรากฏ พลังอำนาจแห่งกิเลสกามก็จะหนุนเนื่องตามมาอย่างน่ากลัวเป็นพลังอันรุนแรงเกรี้ยวกราดยากยิ่งที่จะต้านทานไว้ได้

    รอยกรรมอันเนื่องด้วย บุพเพสันนิวาสเช่นนี้ พระอริยเจ้าหลายรูป เคยประสบพบพานมาแล้วขณะที่ท่านกำลังบำเพ็ญความเพียรเพื่อก้าวข้ามห้วงแห่งโอฆะด้วยวิริยะบากบั่นอย่างถึงที่สุด

    ดังเช่น จะขออัญเชิญเรื่องของพระคุณเจ้าหลวงปู่หลุย จันทสาโร วาระที่ท่านเผชิญกับรอยกรรมแห่งบุพเพสันนิวาส ดังต่อไปนี้

    ครั้งนั้น... หลวงปู่หลุย จันทสาโรไปร่วมงานพิธีบรรจุอัฐิธาตุท่านพระอาจารย์บุญ ปัญญาวุโธ ไว้ในเจดีย์ ณ บริเวณวัดพระบาทบัวบก ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี จากนั้นหลวงปู่หลุยก็ออกธุดงค์วิเวกมาทางจังหวัดเลย จังหวัดเพชรบูรณ์

    ในอดีตสมัยนั้น เส้นทางธุดงค์ผ่านจังหวัดเลยเชื่อต่อเพชรบูรณ์ยังสมบูรณ์ด้วยป่าไม้แน่นขนัด เทือกทิวแห่งภูเขาสลับซับซ้อนเหยียดยาวไปจนสุดสายตา สงบงามท่ามกลางบรรยากาศอันวิเวก นับเป็นสถานสัปปายะอย่างยิ่งของพระธุดงคกรรมฐานผู้ซึ่งกำลังกำลังพากเพียรบำเพ็ญสมณะธรรม

    หลวงปู่หลุยจาริกธุดงค์มาถึงหล่มสัก ได้แวะโปรดญาติโยมที่นี่ เนื่องจากที่หล่มสักนี้เป็นพื้นเพภูมิลำเนาดั้งเดิมของโยมมารดาและยังมีญาติพี่น้องซึ่งคุ้นเคยกันอยู่จำนวนมาก
    เมื่อท่านถึงหล่มสักแล้ว พอดีกับบ้านญาติผู้หนึ่งมีผู้เสียชีวิตและได้จัดงานศพขึ้นที่บ้าน มีการนิมนต์พระไปสวดมนต์หน้าศพตามประเพณี หลวงปู่หลุยก็ได้รับนิมนต์ไปสวดมนต์งานศพที่บ้านนั้นด้วย

    เมื่อถึงกำหนดเวลาไปสวดงานศพ หลวงปู่หลุยก็ไปที่บ้านงานศพตามที่ได้รับนิมนต์ และขึ้นนั่งบนอาสนะเรียงลำดับตามพรรษากับพระรูปอื่นซึ่งรับนิมนต์ไปเช่นกัน โดยมีท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ซึ่งรับนิมนต์มาเช่นกันนั่งใกล้กับท่าน

    ได้เวลาสวดมนต์ หลวงปู่หลุยก็สวดด้วยจิตสงบจดจ่ออยู่กับบทสวด กระทั่งผ่านไปจบหนึ่ง ระหว่างพักสวดเจ้าภาพได้นำน้ำปานะมาถวายพระแก้คอแห้ง
    ขณะนั้น หลวงปู่หลุยได้ชำเลืองตามองไปที่กลุ่มแขกซึ่งมานั่งฟังสวดมนต์โดยมิได้ตั้งใจ ในพลันที่ท่านสบตากับสุภาพสตรีท่านหนึ่งซึ่งนั่งรวมอยู่ในหมู่คนกลุ่มนั้น ท่านมีความรู้สึกแปล๊บเข้าไปในหัวใจ ดุจสายฟ้าฟาดเข้าให้แทบสิ้นสติสมประดีถึงกับซวนเซประหนึ่งจะล้มฟุบอยู่ตรงนั้น

    ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ซึ่งอยู่ใกล้ๆ เห็นอาการเช่นนั้นของหลวงปู่หลุยก็เข้าประคองไว้ทันท่วงที กล่าวให้สติประหนึ่งกำหนดรู้อาการเช่นนั้นว่ามีสาเหตุเนื่องมาจากอะไร

    ทางฝ่ายท่านสุภาพสตรีผู้นั้น ดูเหมือนจะมีอาการหนักหนาสาหัสยิ่งกว่า เพราะเธอถึงกับฟุบเป็นลมคาที่ มารดาและญาติผู้ใหญ่ต้องเข้ามาประคองและช่วยปฐมพยาบาลกันชุลมุน

    ความรู้สึกอันรุนแรงเกรี้ยวกราดที่ผุดวูบขึ้นมาอย่างกะทันหันอย่างทันทีทันใดนั้น เป็นความรู้สึกเช่นเดียวกับที่ชาวโลกเรียกกันว่า "รักแรกพบ" แต่ดูจะมีอานุภาพเชี่ยวกรากน่ากลัวเหลือประมาณ

    แม้หลังจากกลับจากงานสวดมนต์แล้ว จิตของหลวงปู่หลุยก็ยังไม่หายสั่นสะเทือน มีความปราถนาอยากลาสิกขาบท แล้วโลดแล่นติดตามไปครองคู่อยู่เคียงกับสตรีท่านนั้นเพียงอย่างเดียว

    หากบุญบารมีในเพศพรหมจรรย์ของหลวงปู่ยังมีอยู่ ทำให้ท่านพยายามเหนี่ยวรั้งใจเอาไว้เต็มเหนี่ยว แต่แทบสุดจะฝืนสุดจะกล้ำกลืนเอาไว้ได้เหมือนกัน อีกทั้งยังมีพระอาจารย์สิงห์คอยกำกับประคับประคองอยู่เคียงข้าง ให้สติ ให้แนวทางแห่งการหลุดพ้นภัยมาตุคามครั้งนี้ตลอดเวลา

    สำหรับกรณีรอยกรรมจากบุพเพสันนิวาสนั้น ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาโม เคยมีส่วนรู้เห็นและให้ความช่วยเหลือแนะนำแก่สหายธรรมิกรูปหนึ่งมาแล้ว คือ ท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร คราวนั้น พระอาจารย์ฝั้นและพระอาจารย์สิงห์อยู่กรุงเทพ ฯ พระอาจารย์ฝั้นพบสุภาพสตรีท่านหนึ่งนั่งสามล้อสวนทางมา เพียงตาสบตารู้สึกปล๊าปไปทั้งตัวแทบจะวิ่งตามเขาไป

    ดีแต่ว่าท่านพระอาจารย์สิงห์ให้สติ และแนะนำให้ขังตัวเองไว้ในโบสถ์ พิจารณาดับความรู้สึกนึกคิดในทางโลกด้วยการเจริญอสุภะกระทั่งสามารถตัดอารมณ์ทุรนทุรายได้สำเร็จเด็ดขาด ซึ่งก็นับว่าเป็นภาวะหนักหนาสาหัสเหลือประมาณ

    ในครั้งนั้น ท่านพระอาจารย์ฝั้น พิจารณาลงไปก็ได้ความว่าเนื่องด้วยบุพเพสันนิวาส เคยเป็นคู่กันมาแต่บุพชาติ หากแต่บุญบารมีในสมณะธรรมยังเกื้อหนุนอยู่ พระอาจาย์ฝั้นจึงรอดปากเหยี่ยวปากกามาได้อย่างหวุดหวิด

    ในกรณีท่านพระอาจารย์ฝั้นนั้น เป็นการพบกันเพียงวูบเดียว ครั้งเดียวแล้วก็จากกันไป สุภาพสตรีท่านนั้นจะเป็นใคร อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ แต่สำหรับกรณีหลวงปู่หลุยหนักหนาสาหัสกว่า เพราะตัวท่านกับสุภาพสตรีคนดังกล่าวมีโอกาสพบกันอีกหลายครั้ง ญาติผู้ใหญ่ของท่านทั้งสองฝ่ายก็สนิทกันประดุจญาติ

    และตัวท่านกับสุภาพสตรีท่านนี้ก็อาจเคยพบกันมาแล้วตั้งแต่เด็กๆ เพียงแต่ฝ่ายหญิงถูกส่งไปศึกษาเล่าเรียนที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่เล็กๆ มาพบกันอีกครั้งคือครั้งนี้ หลวงปู่หลุยได้เข้าสู่เพศพรหมจรรย์เป็นบรรพชิตไปแล้ว

    สำหรับท่านสุภาพสตรี เมื่อไปอยู่กรุงเทพฯ ได้เข้าเรียนจนจบชั้นมัธยมบริบูรณ์จากโรงเรียนสตรีมีชื่อภาษาต่างประเทศโรงเรียนหนึ่ง นานๆ ครั้งจึงจะกลับมาเยี่ยมบ้าน เมื่อมาเยี่ยมบ้านท่านจะมีบุคคลิกของสาวสมัยใหม่ เครื่องแต่งกายงดงามทันสมัย และชอบขี่ม้าเล่น ขี่ม้าเก่ง เวลาขี่ม้า ใส่ท๊อปบู๊ตดูสง่างามผิดไปจากสาวๆ พื้นบ้านท้องถิ่นนั้น
    กุลสตรีท่านนี้เป็นสาวสวย รูปร่างสวย หน้าสวย นัยน์ตาโตงาม ผมก็งาม เพียบพร้อมด้วยรูปสมบัติ คุณสมบัติ และทรัพย์สมบัติครบถ้วน

    ในขณะที่หลวงปู่หลุยพะว้าพะวังจะลาจากเพศพรหมจรรย์เสียให้ได้ ท่านพระอาจารย์สิงห์เห็นอาการแล้วคงไม่ดีแน่ จึงรีบพาหลวงปู่ออกจากหล่มสัก พาหนีไปให้ไกลห่างสถานที่เกิดเหตุ เที่ยววิเวกตามป่าตามเขา เร่งกระทำความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ แม้กระทั่งอดนอน อดอาหารเพื่อผ่อนคลายคิดถึงมาตุคามท่านพระอาจารย์สิงห์ก็สนับสนุนให้กระทำ

    เมื่อหลวงปู่หลุยพิจารณาอย่างหนัก ก็ได้นิมิตว่า สุภาพสตรีท่านนั้นเคยเป็นคู่บุพเพสันนิวาสกันมาแต่บุพชาติ ท่านพระอาจารย์สิงห์อธิบายเพิ่มเติมให้อีกว่า เธอผู้นั้นในอดีตชาติคงตั้งความปรารถนาบำเพ็ญบารมีคู่กันมา อนุภาพเมื่อสบตากันครั้งแรกจึงรุนแรงเกรี้ยวกราดถึงปานนั้น

    แม้หลวงปู่หลุยจะได้นิมิตแห่งรอยกรรมอันเนื่องด้วยบุพเพสันนิวาส ท่านก็ไม่ยอมสิโรราบ แล้วยอมรับชะตากรรมไปตามนั้น จิตใจมุ่งที่จะบำเพ็ญเพศพรหมจรรย์ต่อไป ทั้งๆ ที่หัวอกประหนึ่งจะกลัดหนอง

    ใช้มานะข่มขันธ์ เร่งกระทำความเพียร และยังมีท่านพระอาจารย์สิงห์คอยกำกับให้สติเป็นเวลาพอสมควร หลวงปู่หลุยจึงสามารถตัดขาดเยื่อใยแห่งบุพเพสันนิวาสจนขาดสะบั้น ไม่มีชาติภพจะสืบต่อไปอีกทั้งในกาลปัจจุบันและอนาคตใด ๆ
    ด้วยเหตุนี้ หลวงปู่หลุยจึงตะหนักถึงภัยมาตุคามที่มีต่อเพศพรหมจรรย์อย่างยิ่ง เมื่อท่านเทศนาอบรมภิกษุสามเณรเกี่ยวกับมาตุคามและบุพเพสันนิวาสครั้งใด จะกล่าวย้ำกล่าวเตือนว่าต้องใช้กำลังใจอย่างสูงสุดจึงจะเอาชนะได้
    นับแต่นั้น หลวงปู่หลุย จันทสาโส ก็ดำเนินไปตามวิถีแห่งสมณะธรรมโดยสว่างสงบ ตราบกระทั่งท่านละสังขารเป็นปริโยสาน

    สำหรับสุภาพสตรีอันเป็นรอยกรรมท่านนั้น เมื่อกลับมายังกรุงเทพมหานครแล้ว ท่านก็ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงด้วยอัจฉริยภาพอันโดดเด่น เป็นที่รู้จักชื่อเสียงของท่านในวงการผู้รักหนังสือร่วมสมัย และ...แม้แต่ในปัจจุบัน
    (ข้อมูลจากหนังสือ "จันทสาโรบูชา")

    ภัยจากมาตุคามนี้
    พระอาจาย์เทกส์ เทสรังสี

    วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย

    ได้ปรารภไว้ว่า
    เราละอายแก่ใจมาก ไม่อยากจะพูดเลยว่ามาตุคามเป็นภัยอันตรายแก่พรหมจรรย์ เพราะมารดาของเราก็เป็นผู้หญิงและพุทธศาสนาที่เราซุกหัวพึ่งร่มเงาอยู่ในขณะนี้โดยมากก็อาศัยผู้หญิงค้ำจุนไว้โดยแท้ อันมาตุคามเป็นภัยแก่พรหมจรรย์อย่างมหันต์ แต่ก็มีคุณอนันต์แก่พระศาสนาเท่ากัน เพราะมาตุคาม เป็นเรือนร่างที่เกิดของพระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลาย และยังเป็นที่ปรารภให้เกิดธรรมของท่านเหล่านั้นด้วย ภิกษุผู้ล่วงละเมิดในพระวินัยที่น่าเกลียดที่สุดคือสิกขาบทที่เกี่ยวด้วยเรื่องความรักๆ ใคร่ๆที่เรียกว่ากามโลกีย์นี้

    คัดลอกบางส่วนจาก : มาตุคาม มหาภัยพรหมจรรย์

    นที ลานโพธิ : รวบรวม/เรียบเรียง

     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • rosebar-2.gif
      ขนาดไฟล์:
      1.4 KB
      เปิดดู:
      196
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 4 กรกฎาคม 2021
  2. lotusbudth

    lotusbudth สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 ตุลาคม 2020
    โพสต์:
    131
    ค่าพลัง:
    +155
    สาธุค่ะ
     

แชร์หน้านี้

Loading...