"เมียตาย" เพราะมือหมอ ไม่มีคำตอบจากแพทยสภา

ในห้อง 'ข่าวทั่วไป' ตั้งกระทู้โดย paang, 20 ตุลาคม 2005.

  1. paang

    paang เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 เมษายน 2005
    โพสต์:
    9,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +34,328
    [​IMG]

    ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา น.พ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวในการประชุมวิชาการประจำปีครั้งที่ 4 โรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล ว่า นับตั้งแต่ปี 2541 การฟ้องร้องแพทย์เริ่มมีมากขึ้น เพิ่มขึ้นจากเดือนละ 1 ราย มาเป็นวันละ 1 ราย

    ในช่วงแรกโรงพยาบาลเอกชนจะถูกฟ้องมาก แต่ในช่วงนี้อัตราการถูกฟ้องเท่าๆ กัน และขณะนี้คนไข้เปลี่ยนไปจากการฟ้องร้องแพทย์มาเป็นกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งศาลมักจะตัดสินให้คนไข้ชนะ เพราะเห็นว่าเป็นการช่วยเหลือคนไข้ และไม่ได้ไล่เบี้ยกับแพทย์ แต่เมื่อข่าวออกไปกลายเป็นว่าแพทย์แพ้

    นี่คือสถานการณ์ด้านการแพทย์ อีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจไม่ใช่น้อย

    เมื่อเร็วๆ นี้ นายสำราญ ญาติของผู้ป่วยรายหนึ่งได้เข้าร้องเรียน "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ครอบครัวได้รับความเดือดร้อนจากการวินิจฉัยโรคผิดพลาดของแพทย์โรงพยาบาลชื่อดังแห่งหนึ่งและปัดความรับผิดให้กับโรงพยาบาลอื่น วันนี้แม้จะไม่สามารถเรียกชีวิตของผู้ป่วยคืนมาได้ แต่อยากให้เรื่องนี้เป็นกรณีศึกษาทางการแพทย์ ไม่อยากให้เกิดเรื่องร้ายๆ เช่นนี้กับครอบครัวอื่น จึงได้ร้องเรียนให้แพทยสภาตรวจสอบเรื่องนี้ และส่งเรื่องร้องเรียนไปที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์) ตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2547 จนบัดนี้รวมเวลาปีกว่าแล้วยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้เลย

    "ผมได้ไถ่ถามเรื่องนี้กับเจ้าหน้าที่แพทยสภาอย่างต่อเนื่อง ทวงถามไปกว่า 10 ครั้ง แต่ไม่มีความคืบหน้าใดๆ เลย เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลว่าแพทย์เจ้าของเรื่องยังไม่ส่งหนังสือชี้แจงกลับมา ทางแพทยสภาจึงทำอะไรไม่ได้

    จริงๆ แล้วไม่อยากฟ้องร้อง แต่เห็นว่าแพทยสภาน่าจะเป็นหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อ มีความเป็นกลาง สร้างความชอบธรรมให้กับสังคมได้ ถ้าแพทยสภาพิจารณาว่าอย่างไรทุกอย่างก็จบ แต่รอมาปีกว่าแล้วยังไม่ได้จัดการอะไรให้เลย ก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร" นายสำราญเล่าด้วยเสียงสั่นเครือ

    นายสำราญบอกต่อว่า อยากให้แพทยสภารีบไต่สวนและให้ความเป็นธรรม เพราะผู้ป่วยซึ่งเป็นภรรยาของตนนั้นได้รับความทุกข์ทรมานมาก ปวดท้องอยู่นานนับ 10 ปีโดยที่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง ไปหาหมอคราใดก็ถูกต่อว่าต่อขานกลับมาทุกครั้งว่าเป็นโรคเครียดบ้าง ต้องการเรียกร้องความสนใจจากสามีบ้าง โดยไม่มีการตรวจละเอียดตามวิธีการทางการแพทย์ ถึงแม้ว่าผู้ป่วยร้องขอให้มีการตรวจอย่างละเอียดแต่แพทย์ผู้ตรวจก็ไม่ยอมตรวจให้ แต่มักจะจ่ายยาระบายและยาลดกรดในกระเพาะอาหารให้ตลอดเวลา

    "คนไข้เริ่มมีอาการปวดท้องรุนแรงตั้งแต่ปี 2544 รวมถึงมีอาการอาเจียนออกมาเป็นน้ำดี ถ่ายเป็นเลือด แพทย์ลงความเห็นว่าเป็นผลมาจากความ เครียด ส่วนการถ่ายเป็นเลือดนั้นเกิดจากริดสีดวงเนื่องจากรับประทานอาหารที่แข็งเกินไป ผู้ป่วยจึงขอให้แพทย์ตรวจร่างกายอย่างละเอียดอีกครั้ง แต่กลับได้รับการปฏิเสธโดยยืนยันว่าอาการที่เกิดขึ้นเกิดจากสภาวะเครียดทางจิตใจ จนทำให้ผู้ป่วยคิดจะฆ่าตัวตาย

    และจากความเห็นของแพทย์ ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลจากบริษัทประกันได้ เพราะเป็นโรคที่เกิดจากสภาวะจิตใจมิใช่ร่างกาย

    ต่อมาปี 2546 อาการเจ็บปวดเริ่มรุนแรงมากขึ้น ผู้ป่วยจึงตัดสินใจไปปรึกษาแพทย์ท่านอื่น ปรากฏว่าแพทย์แนะนำให้ส่องกล้องดู แต่แพทย์ผู้ตรวจไม่ยอมส่องกล้องโดยวินิจฉัยว่าเป็นอาการของกล้ามเนื้อบริเวณลำตัวอักเสบ

    จนกระทั่งวาระสุดท้าย ผู้ป่วยได้ปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้เพื่อหาวิธีลดความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น แต่แพทย์ก็ยังยืนยันคำวินิจฉัยเดิม กล่าวหาว่าผู้ป่วยเป็นโรคจิตคิดว่าตัวเองเป็นทุกโรค สุดท้ายผู้ป่วยได้ไปขอความช่วยเหลือจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจในโรงพยาบาลเดียวกันให้ช่วยตรวจ ปรากฏว่าพบความผิดปกติมากมายในช่องท้องและต้องเข้ารับการผ่าตัดทันที ตัดกระเพาะทิ้ง ตัดม้ามทิ้งข้างหนึ่ง หลังจากนั้นแพทย์แจ้งว่าเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารระยะสุดท้าย ต้องพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล ต้องฉีดมอร์ฟีนวันละ 1-3 ครั้ง ทางโรงพยาบาลได้แสดงความรับผิดชอบโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดในการรักษา รวมถึงชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย แต่เงินที่ได้รับไม่สามารถชดเชยกับสิ่งที่ผู้ป่วยต้องสูญเสียไป

    เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ผู้ป่วยได้สิ้นใจลงด้วยความเจ็บปวดและทรมานอย่างที่สุด"

    นายสำราญให้สัมภาษณ์ว่า หากไม่มีความผิดพลาดเกิดขึ้นโรงพยาบาลคงไม่ออกมารับผิดชอบใดๆ บันทึกประวัติคนไข้เป็นหลักฐานที่ดีที่สุดไม่มีครั้งใดที่ระบุว่าคนไข้เป็นมะเร็งเลย จนกระทั่งมีการผ่าตัดเกิดขึ้น ก่อนที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิตได้ไปออกรายการถึงลูกถึงคน ทางช่อง 9 กับแพทย์เจ้าของไข้ ซึ่งแพทย์ให้สัมภาษณ์ว่าผู้ป่วยไปรักษากับโรงพยาบาลอื่นแล้วมาโยนความผิดให้กับเขา ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ตรงนี้จึงอยากให้สังคมรับรู้ว่าอะไรผิด อะไรถูก จรรยาบรรณของแพทย์ต้องมี เชื่อว่าจริงๆ แล้วแพทย์คงไม่มีเจตนาที่จะให้คนไข้เป็นอย่างนี้ แต่การใช้วิชาชีพบิดเบือนข้อเท็จจริงมันโหดเหี้ยมเกินไปสำหรับผู้หญิงคนหนึ่ง

    สิ่งที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของนายสำราญ อาจจะเป็นจุดเล็กๆ ในสังคม แต่ก็สะท้อนให้เห็นบทบาทและการทำงานของแพทยสภาในช่วงที่ผ่านมาได้ระดับหนึ่ง

    จากการสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ฝ่ายจริยธรรม แพทยสภา ให้ข้อมูลว่า โดยหลักการทั่วๆ ไป เมื่อผู้ป่วยได้รับความเดือดร้อนจากการรักษาของแพทย์ จะร้องเรียนเป็นลายลักษณ์อักษรมายังแพทยสภา หากมีข้อมูลเพียงพอ ทางสำนักงานเลขานุการจะนำเรื่องเสนอคณะอนุกรรมการกลั่นกรองจริยธรรม ซึ่งมี น.พ.พินิจ หิรัญโชติ เป็นประธานพิจารณา แต่ไม่มีการกำหนดเงื่อนเวลาว่าในแต่ละเรื่องจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในกี่วัน

    จากนั้นทางคณะอนุกรรมการจะสอบถามข้อมูลไปยังโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอความเห็นผู้เชี่ยวชาญ และข้อมูลจากผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่เนื่องจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนเข้ามาที่แพทยสภาเป็นจำนวนมาก เฉลี่ยปีละ 250-280 เรื่อง การพิจารณาจึงค่อนข้างล่าช้า บางเรื่องจึงดูเหมือนเงียบหายไปเฉยๆ แต่จริงๆ แล้วทุกเรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะอนุกรรมการ

    ที่มา http://www.matichon.co.th/prachachart
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 25 ตุลาคม 2005

แชร์หน้านี้

Loading...