เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอาทิตย์ที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๖

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 14 พฤษภาคม 2023.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,366
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,526
    ค่าพลัง:
    +26,366
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอาทิตย์ที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๖


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,366
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,526
    ค่าพลัง:
    +26,366
    วันนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ ๑๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ กระผม/อาตมภาพเพิ่งกลับจากการอบรมผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสใหม่ ในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๔ รุ่นที่ ๒/๒๕๖๖ ซึ่งพระเดชพระคุณท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย ธมฺมธโช) กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่หนกลาง เมตตาเดินทางมาเป็นประธานมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้ผ่านการอบรมและให้โอวาท

    ส่วนหนึ่งที่พระเดชพระคุณท่านเจ้าประคุณสมเด็จหนกลางเป็นกังวลมากก็คือว่า ในปัจจุบันนี้พระภิกษุสามเณรของเราหลงประเด็นกันไปไกลมาก เกิดเรื่องราว เกิดปัญหา แทนที่จะปรึกษาผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น กลับไปปรึกษาทนาย แล้วก็ทำให้มีการฟ้องร้องกันตามแต่ทนายจะแนะนำ

    ยังโชคดีที่ว่าคณะสงฆ์จังหวัดกาญจนบุรี ตั้งแต่หลายสิบปีก่อนที่พระเดชพระคุณพระธรรมคุณาภรณ์ (ไพบูลย์ กตปุญฺโญ ป.ธ.๘) อดีตเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี ท่านยังมีชีวิตอยู่ และดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี ท่านบอกอยู่เสมอว่า "เป็นพระอย่าไปฟ้องร้องกับญาติโยม ต่อให้ชนะ ภาพพจน์ของความเป็นพระก็เสียไปแล้ว"

    หลายท่านไม่ค่อยจะคำนึงถึงตรงนี้ เมื่อทนายแนะนำว่ามีโอกาสชนะได้ ก็ทำการฟ้องร้องแบบ "ไม่ดูตาม้าตาเรือ" บางคนเพิ่งขึ้นเป็นเจ้าอาวาส บารมียังไม่มี ฝีมือยังไม่ปรากฏ แล้วไปทำการฟ้องร้อง ญาติโยมก็ไม่เกรงใจ มีเท่าไรก็ใส่กลับกันอย่างเต็มที่ ต่อให้พระเราเป็นฝ่ายชนะ ก็สร้างศัตรูให้กับวัดไปแล้ว

    โดยเฉพาะในเรื่องของการหลงประเด็นนี้ ในปัจจุบันเป็นกันมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากบรรดาสื่อต่าง ๆ ที่นำเสนอไป อย่างเช่นว่าพอเกิดเหตุขึ้น สมมติว่ามีพระภิกษุสงฆ์เสพเมถุนกับสตรี ก็มีการฟ้องร้องกัน ปัจจุบันนี้ก็มักจะไม่ค่อยจะฟ้องร้องตามลำดับชั้น อย่างเช่นว่า ถ้าเป็นพระลูกวัด เราต้องฟ้องร้องกับเจ้าอาวาส เป็นเจ้าอาวาสต้องยื่นเรื่องฟ้องต่อเจ้าคณะตำบล เป็นเจ้าคณะตำบลต้องยื่นเรื่องฟ้องต่อเจ้าคณะอำเภอ เป็นเจ้าคณะอำเภอต้องยื่นเรื่องฟ้องต่อเจ้าคณะจังหวัด ฯลฯ เป็นลำดับชั้นไปอย่างนี้
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,366
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,526
    ค่าพลัง:
    +26,366
    แต่คราวนี้ส่วนใหญ่แล้วญาติโยมไม่เข้าใจขั้นตอนการปกครองคณะสงฆ์ เท่าที่กระผม/อาตมภาพพบมาก็คือ เกิดเรื่องกับเจ้าอาวาส ก็ไปฟ้องเจ้าคณะอำเภอบ้าง เจ้าคณะจังหวัดบ้าง บางรายก็ถึงขนาดฟ้องเจ้าคณะภาคเลย..! แล้วจะให้ผู้บังคับบัญชาทำอะไรได้ ? เพราะว่าผิดขั้นตอน เนื่องจากว่าเรื่องทั้งหลายเหล่านี้ต้องเป็นไปตามลำดับ จนกว่าจะผ่านไปถึงท่าน ท่านถึงสามารถที่จะรับเรื่องเอาไว้และดำเนินการให้ได้ ไม่อย่างนั้นตัวเองก็จะโดนข้อหา "เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ"

    แต่ญาติโยมก็ไม่เข้าใจ เมื่อฟ้องร้องไปแล้ว โดนปฏิเสธมาก็มักจะคิดว่าพระเราปกป้องกันเอง ก็เลยยิ่งกลายเป็นข่าวใหญ่โตขึ้นไปอีก และโดยเฉพาะหากว่าเรื่องถึงทางโลก
    ศาลชั้นต้นตัดสินแล้วก็ยังอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ตัดสินแล้วก็ยังฎีกา ศาลฎีกาตัดสินแล้ว บางทีก็ยังฟ้องศาลปกครองต่อ เรื่องเหล่านี้ต้องบอกว่าหลงประเด็นไปไกลสุด ๆ ไกลชนิดออกทะเลกู่ไม่กลับกันเลยทีเดียว..!

    เนื่องเพราะว่าสิ่งหนึ่งประการใดที่เกี่ยวข้องกับศีลพระ โดยเฉพาะอาบัติหนัก ก็คือปาราชิก ซึ่งทำแล้วขาดความเป็นพระทันที ไม่ใช่ต้องรอให้ฟ้องร้องแล้วศาลตัดสินก่อน ไม่ใช่ว่าศาลตัดสินแล้วยังมีการไกล่เกลี่ยประนีประนอม คืนเงินให้เจ้าของก็เป็นอันว่าจบกัน นั่นเป็นเรื่องของทางโลก เรื่องของทางธรรมก็คือ ทันทีที่ความผิดนั้นสำเร็จลง คุณก็ขาดความเป็นพระไปแล้ว..!

    จึงเป็นเรื่องที่น่าหนักใจว่าในปัจจุบันนี้ บุคคลที่จะแม่นยำต่อพระธรรมวินัย ต่อกฎหมายบ้านเมืองและต่อจารีตประเพณี สามารถที่จะตัดสินได้อย่างถูกต้อง ไม่เอนเอียง มีน้อยมาก ส่วนใหญ่แล้วก็ประกอบด้วยอคติ ลำเอียงเพราะรักบ้าง ลำเอียงเพราะโกรธบ้าง ลำเอียงเพราะกลัวบ้าง ลำเอียงเพราะหลงบ้าง

    ดังนั้น..เรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในคณะสงฆ์จึงเป็นเรื่องที่จบได้ยาก เพราะว่าสื่อต่าง ๆ ก็ต้องการข่าวเอาไปขาย พยายามที่จะปั่นเรื่องให้ใหญ่เข้าไว้ ญาติโยมหลายท่านก็หลงประเด็น อย่างไม่กี่วันก่อน มีทนายนำญาติโยมบุกวัดมหาพฤฒาราม นั่นขนาดเป็นทนายที่ถือว่าเข้าใจกฎหมายอย่างดีแล้ว ยังไปก้าวล่วงอำนาจเจ้าอาวาสที่เป็นเจ้าพนักงานโดยกฎหมาย แบบนั้นฟ้องร้องเมื่อไรก็แพ้พระทันที แต่ก็ยังทำ อยู่ในลักษณะที่ว่าทำแล้ว ถึงเวลาตัวเองปรากฏชื่อเสียงขึ้นมา ก็จะได้มีผู้ว่าจ้างมากขึ้น เพิ่มค่าตัวได้มากขึ้น อย่างที่ทนายบางคนโดนถลกหนังประจานว่า ค่าปรึกษาแค่ไม่กี่นาทีโดนไปเป็นแสน..! เป็นต้น
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,366
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,526
    ค่าพลัง:
    +26,366
    ดังนั้น..ทุกสิ่งทุกอย่างในปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่แล้วแอบอิงอยู่กับผลประโยชน์จำนวนมาก จึงทำให้สูญเสียความยุติธรรมไป โดยเฉพาะหลักการตัดสินอธิกรณ์ทั้ง ๗ ประการที่เรียกว่าอธิกรณสมถะ หลักที่สำคัญที่สุดคือสัมมุขาวินัย ถึงพร้อมด้วยโจทก์ ถึงพร้อมด้วยจำเลย ถึงพร้อมด้วยคณะสงฆ์ และที่สำคัญที่สุดก็คือถึงพร้อมด้วยธรรม มีความยุติธรรมไม่เอนเอียงไปทางใดทางหนึ่ง

    แล้วเรายังมีหลักมหาปเทส ๔ เอาไว้อ้างอิงในการตัดสินอีกว่า สิ่งนั้น ๆ ที่ไม่ได้บัญญัติเอาไว้ตั้งแต่สมัยพุทธกาล มาในปัจจุบันนี้สมควรทำหรือไม่สมควรทำ ? ทำแล้วผิดหรือว่าไม่ผิด ?

    ดังนั้น..ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายศึกษาดูจะเห็นว่าคุณสมบัติของพระอุปัชฌาย์ คือผู้ที่จะให้การอุปสมบทกุลบุตรเพื่อสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา มีกำหนดไว้ในพระวินัยอย่างชัดเจนว่า "เป็นภิกษุผู้มีพรรษาพ้น ๑๐ รู้พระธรรมวินัยครบถ้วน อาจสั่งสอนกุลบุตรให้รู้ตามได้" คำว่าอาจสั่งสอนให้รู้ตามได้ ก็คือสามารถสอนให้รู้พระธรรมวินัยได้ชัดเจนเหมือนกับตนเอง

    แต่คราวนี้พอมาในยุคปัจจุบัน แม้แต่พระอุปัชฌาย์ก็ต้องรอการอบรมก่อน มีตั้งแต่อบรมระดับอำเภอ อบรมระดับจังหวัด อบรมระดับภาค อบรมระดับหน แล้วก็ไปอบรมระดับประเทศ ก็เพราะว่าสมัยนี้ส่วนใหญ่แล้ว พระเถระผู้ที่จะได้รับการยกขึ้นเป็นพระอุปัชฌาย์ ไม่ได้ทรงคุณความดีเหมือนอย่างกับสมัยโบราณ

    ที่ร้ายกว่านั้นก็คือ ไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัยให้ชัดเจน สักแต่ว่าจบนักธรรม สักแต่ว่าจบบาลี คำว่าสักแต่ว่าจบ ก็คือเรียนให้ผ่าน ๆ ไปเท่านั้น ไม่ได้เรียนให้รู้จริง จึงต้องมีการกำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นมาใหม่ ว่าจะต้องทำอย่างไรถึงจะเป็นพระอุปัชฌาย์อาจารย์ได้ ?

    เรื่องทั้งหลายเหล่านี้จึงมีการบัญญัติกฎหมาย คือพระราชบัญญัติคณะสงฆ์บ้าง มติมหาเถรสมาคมบ้าง ขึ้นมาควบคุมกันอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เป็นไปตามบาลีที่ว่า อนุชานามิ ภิกฺขเว ราชูนํ อนุวตฺติตุํ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราให้คล้อยตามพระราชา

    คำว่า คล้อยตามพระราชา ก็คือ ให้ทำตามกฎหมาย เพราะว่าในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถือว่าเป็นกฎหมายโดยอัตโนมัติ ในเมื่อปัจจุบันนี้นิยมการบัญญัติกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษร ก็ต้องมีการรับรองกันเป็นระดับชั้นมา อย่างเช่นว่าต้องผ่านการพิจารณาของมหาเถรสมาคม เป็นต้น
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,366
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,526
    ค่าพลัง:
    +26,366
    แต่ว่าในปัจจุบันนี้มีกฎหมายข้อหนึ่ง ที่กระผม/อาตมภาพเห็นว่าขัดต่อพระธรรมวินัยอย่างแรง แต่ว่าผ่านมหาเถรสมาคมออกมาบังคับใช้หลายปีแล้ว ก็คือ การที่ภิกษุต้องคดีถึงจำคุก ถือว่าต้องสละสมณเพศโดยอัตโนมัติ ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีในพระธรรมวินัย

    ในพระธรรมวินัย พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ว่า บุคคลผู้เบื่อหน่ายในชีวิตความเป็นนักบวช ให้บอกกล่าวแก่บุคคลผู้รู้ความว่า ตนเองเบื่อหน่าย ไม่อยากที่จะเป็นนักบวชอีกต่อไปแล้ว ขอละจากเพศนักบวชเหล่านี้ เป็นต้น โดยที่ผู้รับรู้อย่างน้อยต้องเป็นผู้รู้เดียงสา คือเข้าใจความหมายนั้นอย่างชัดเจน ก็แปลว่าในสมัยนี้คือต้องเอ่ยวาจาสึก เพื่อสละเพศนักบวชของตนเองเท่านั้น

    ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะมีปรากฏการณ์อย่างที่เห็น ก็คือพระเถระที่ท่านแม่นยำในพระธรรมวินัย ท่านก็ไม่เอ่ยวาจาสึก แต่เปลี่ยนไปครองชุดขาว แล้วปฏิบัติตนเหมือนกับเป็นพระตามเดิม แล้วท้ายสุดก็ได้รับพระราชทานคืนสมณศักดิ์ให้โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

    ดังนั้น..ถ้าเป็นไปได้ มหาเถรสมาคมน่าจะนำเอากฎหมายข้อนี้ หรือว่ามติข้อนี้ เข้าไปพิจารณาเสียใหม่ เพราะว่าแม้แต่ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ก็ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า "ต้องสั่งการโดยชอบ ไม่ขัดต่อพระธรรมวินัย" การปกครองคณะสงฆ์ของเราจึงเอาพระธรรมวินัยเป็นใหญ่ ตามมาด้วยกฎหมายบ้านเมือง แล้วค่อยต่อด้วยจารีตประเพณี พิจารณาความหนักเบาตามสามส่วนนี้ ถึงจะตัดสินอธิกรณ์กันว่าสิ่งนั้นผิดหรือไม่ผิด

    ดังนั้น..การที่พระเดชพระคุณท่านเจ้าประคุณสมเด็จหนกลางเป็นห่วงอยู่ ก็เพราะว่าพวกเราทั้งหลาย ส่วนใหญ่แล้วหลงประเด็นตามชาวบ้านเขาไป อย่าลืมว่า
    ชีวิตของพระภิกษุสามเณรของเรา ขึ้นอยู่กับศีลของตน ละเมิดศีลเมื่อไร เกิดโทษทันที ไม่ใช่รอศาลตัดสิน ๓ ศาล แล้วยังไปฟ้องศาลปกครองต่อ ถ้าอย่างนั้นก็ถือว่าออกทะเล หาทางกลับไม่เจอแล้ว..!

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันอาทิตย์ที่ ๑๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...