ปัญหาสำคัญที่ผมทราบมาก็คือกำลังของฝ่ายบุญกุศลมีน้อยเกินไป และการบำเพ็ญบุญบารมีทำได้ยากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อสัดส่วนบุญส่วนรวมมีน้อยลงเรื่อยๆ และสัดส่วนผลบาปส่วนรวมมีมากขึ้นเร่ื่อยๆ การจะช่วยเหลือสรรพสัตว์ก็ต้องใช้ต้นทุนคือบุญกุศลเสมอ เมื่อกำลังของคนดีมีบารมีสูงๆลดลงไปมากๆจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม จะทำให้กำลังบุญส่วนรวมพลอยลดน้อยลงไปด้วยและมีผลกระทบโดยตรงต่อการช่วยเหลือสรรพสัตว์โดยรวมเช่นกัน ฐานกำลังของคนดีและท่านที่มีบุญบารมีสูงจึงเป็นตัวแปรสำคัญในการที่จะสร้างสมผลบุญมาช่วยเหลือสรรพสัตว์ ยิ่งมีมากเท่าไรก็ยิ่งช่วยได้มากเท่านั้น และยิ่งทำงานสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกันยิ่งมีผลดีทวีคูณเข้าไปอีก สมมุติว่าผลบุญจากการให้ทานมีมากพอเพียง ก็จะพอแจกจ่ายให้คนที่ลำบากได้พออยู่พอกิน ในขณะเดียวกันก็สอนอาชีพที่เหมาะกับเขาเหล่านั้น เมื่อเขาไม่ลำบากในการดำรงชีวิต โอกาสที่จะทำความชั่วเพราะความอดอยากก็จะลดลงไปด้วย การรักษาศีลก็จะดีขึ้น และเมื่อบุคคลมีความเป็นอยู่สุขสบายเพียงพอก็มีโอกาสปฏิบัติธรรมได้ง่ายขึ้นด้วย เพราะถ้ายังเดือดร้อนเรื่องความเป็นอยู่ การจะทำความดีของปุถุชนทั่วไปจะทำได้ยากเพราะต้องใช้กำลังใจสูงขึ้นกว่าปกติ แต่สภาพการณ์ในตอนนี้เหมือนน้ำเสีย(คนชั่ว)มาไล่น้ำดี(คนดี) จนทำอะไรก็ลำบากเพราะอีกฝ่ายคอยขัดขวางไปหมด รอบๆตัวเรามีแต่ความทุกข์รุมล้อม จนน่าเป็นห่วงว่าจะมีท่านใดบ้างที่จะยอมเสียสละอยู่ช่วยโลกนี้ไปนานๆบ้าง คนที่เราว่าเขาเป็นคนชั่ว แต่เดิมเขาก็เป็นคนดีเหมือนกับเรานี่แหละ ไม่เช่นนั้นจะมาเกิดเป็นมนุษย์ได้ยาก(ต้องเคยมีศีล 5 มาบ้าง) แต่เนื่องจากอำนาจฝ่ายกิเลสเขาบังคับใจให้คิดผิด หลงผิด ทำผิดไป จึงพลาดพลั้งไปได้ ต้องอาศัยกำลังของพระโพธิสัตว์หรือผู้ปรารถนาพุทธภูมิมาช่วยกันประคับประคองบุคคลเหล่านี้ ให้เดินอยู่ในเส้นทางที่ถูกต้องเหมาะสม มีสัมมาทิฏฐิ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เหมือนคนติดยาเสพติด แม้ได้รับการบำบัดแล้ว ถ้าดูแลไม่ต่อเนื่อง กำลังใจไม่เข้มแข็งพอก็อาจไปติดยาใหม่ได้ กิเลสก็เช่นกัน และกิเลสนี่ละยากยิ่งกว่ายาเสพติดมากนัก เพราะเป็นของละเอียดและยังมีสิ่งที่อยู่เบื้องหลังคอยบังคับใจอีกต่างหาก ฝ่ายกิเลสมารเขาวางกับดักไว้ซับซ้อนมาก ยากที่ใครจะหลุดไปได้ง่ายๆ บางท่านอาจไม่ทราบว่ายิ่งบำเพ็ญบารมีนานเท่าไรก็ยิ่งมีกำลังความสามารถ มีบุญฤทธิ์ในการช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้มีความสุขได้มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะสามารถพัฒนาปัญญา ความรู้ ความสามารถพิเศษให้มากขึ้นไปได้เรื่อยๆ แต่อาจจะไม่สามารถเทียบกับพระพุทธเจ้าได้ เพราะยังไม่บรรลุพระโพธิญาณ ถึงกระนั้นการบำเพ็ญบารมีในระยะยาวก็เป็นกำลังสำคัญที่สามารถช่วยเหลือสรรพสัตว์ที่ยังลำบากอยู่ในวัฏฏสงสารได้อย่างไม่มีขีดจำกัดในเรื่องของเวลา ดังนั้นถ้ามีผู้ที่บำเพ็ญบารมีระยะยาวกันมากพอจะช่วยเหลือเกื้อกูลเหล่าอนิยตโพธิสัตว์ที่มีบารมียังน้อยได้เป็นอย่างดี และส่งผลให้พระโพธิสัตว์มีจำนวนเพิ่มขึ้นได้มากขึ้นเรื่อยๆจนกระทั่งส่งผลต่อกำลังบุญส่วนรวม และกระทบไปถึงการเปลี่ยนแปลงยุคที่คนชั่วมากกว่าคนดี กลายเป็นคนดีมากกว่าคนชั่วได้ เมื่อถึงเวลานั้นการบำเพ็ญบุญบารมีจะง่ายขึ้นมากเลยทีเดียวครับ สถานการณ์จะกลับกลายเป็นตรงกันข้าม จากที่มีสูญกัปนับเป็นอสงไขย อาจจะเปลี่ยนเป็นยุคที่มีพระพุทธเจ้าตรัสรู้ต่อเนื่องทุกกัปเป็นอสงไขยพระองค์ และมีสูญกัปเหลือเพียงไม่มากนักคั่นอยู่ก็ได้
บทนี้ เอามาจากวิกิ นะครับ วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร (อังกฤษ: Diamond Sutra) เป็นชื่อพระสูตรสำคัญหมวดปรัชญาปารมิตาของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เชื่อกันว่าพระสูตรหมวดปรัชญาปารมิตานี้เป็นพระสูตรมหายานรุ่นแรก ๆ ที่เกิดขึ้น เนื้อหาสาระสำคัญเป็นเรื่องราวการเทศนาสั่งสอนของพระพุทธเจ้ากับพระสุภูติซึ่งเป็นพระอรหันตสาวก ที่พระเชตวันมหาวิหาร ว่าด้วยการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ จะต้องกระทำด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่นในสรรพสิ่งทั้งปวง เป็นการอรรถาธิบายถึงหลักศูนยตา ความว่างเปล่าปราศจากแก่นสารของอัตตาตัวตนและสรรพสิ่งทั้งปวง แม้ธรรมะและพระนิพพานก็มีสภาวะเป็นศูนยตาด้วยเช่นเดียวกัน สรรพสิ่งเป็นแต่เพียงสักว่าชื่อเรียกสมมติขึ้นกล่าวขาน หาได้มีแก่นสารแท้จริงอย่างใดไม่ เพราะสิ่งทั้งปวงอาศัยเหตุปัจจัยประชุมพร้อมกันเป็นแดนเกิด หาได้ดำรงอยู่ด้วยตัวของมันเอง เช่นนี้สิ่งทั้งปวงจึงเป็นมายา พระโพธิสัตว์เมื่อบำเพ็ญบารมีพึงมองเห็นสรรพสิ่งในลักษณะเช่นนี้ เพื่อมิให้ยึดติดในมายาของโลก ท้ายที่สุด พระพุทธองค์ได้สรุปว่าผู้เห็นภัยในวัฏสงสารพึงยังจิตมิให้บังเกิดความยึดมั่นผูกพันในสรรพสิ่งทั้งปวง เพราะสังขตธรรมนั้นอุปมาดั่งภาพมายา ดั่งเงา ดั่งความฝัน ดั่งฟองในน้ำ และดั่งสายฟ้าแลบ เกิดจากการอิงอาศัยไม่มีสิ่งใดเป็นแก่นสารจีรังยั่งยืน
บทนี้ มาจากเว็ปวัดโพธิ์แมนคุณาราม พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน 大乘教理 พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน 大乘教理 ความหมายของคำว่า มหายาน มหายาน มาจากธาตุศัพท์ มหา + ยาน แปลว่า พาหนะที่ใหญ่ เป็นคำเรียกที่อาศัยการเปรียบเทียบ จากคำว่า หินยานซึ่งมาจากศัพท์ว่า หีน + ยาน ซึ่งมหายานแปลว่า พาหนะที่เล็ก ๆมหายานยังมีความหมายว่า ยานที่สูงสุดและตามความเชื่อของพุทธศาสนิกชนฝ่ายมหายาน คำว่ามหายาน ไม่เพียงแต่เป็นยานใหญ่ ยานที่สูงสุดเท่านั้น ยังเป็นยานที่รับคนได้ทุกประเภท ทุกอาชีพ ทุกวัย และรวมทั้งสัตว์โลกทุกรูปนามด้วย และยานนี้ยังหมายถึงยานที่จะไปถึงพุทธภูมิ แล้วสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าได้ มหายาน จึงหมายถึงการขนสัตว์ให้ข้ามพ้นวัฏสงสารได้มากกว่าสาวกยาน ในมหาปรัชญาปารมิตาศาสตร์ คุรุนาคารชุน ปราชญ์ฝ่ายมหายาน ได้อธิบายไว้ว่า พระพุทธธรรมมีเอกรสเดียว คือ รสแห่งวิมุติ ความรอดพ้นจากปวงทุกข์ แต่ชนิดของรสมี 2 ชนิด คือ ชนิดแรกเพื่อตัวเอง ชนิดที่สองเพื่อตัวเองและสรรพสัตว์ด้วยอันหมายความว่า ฝ่ายสาวกยานมุ่งความหลุดพ้นเฉพาะตน ไม่มีปณิธานในการโปรดสรรพสัตว์ แต่ฝ่ายมหายานตรงกันข้าม ย่อมมุ่งพุทธภูมิกันเพื่อขนสัตว์ให้พ้นทุกข์จนหมดสิ้น อธิบายว่า พุทธศาสนิกชนฝ่ายสาวกยานโดยทั่วไปแล้วมุ่งแต่อรหัตภูมิเป็นสำคัญ ฉะนั้น จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สาวกยานส่วนพุทธศาสนิกชนฝ่ายมหายานแล้วมุ่งพุทธภูมิทั้งนั้น จึงมีชื่อว่า โพธิสัตวยานบ้าง พุทธยานบ้าง สรุปแล้ว ยานในพระพุทธศาสาได้แบ่งออกเป็น 3 คือ 1. สาวกยาน (เซียบุ่งเส็ง) คือยานของพระสาวก ที่มุ่งเพียงอรหัตภูมิ ซึ่งรู้แจ้งในอริยสัจ 4 ด้วยการสดับจากพระพุทธเจ้า 2. ปัจเจกยาน (ตกกักเส็ง) คือยานของพระปัจเจกพุทธเจ้า ได้แก่ผู้รู้แจ้งในปฏิจจสมุปบาทด้วยตนเอง แต่ไม่สามารถแสดงธรรมสั่งสอนสัตว์ให้บรรลุมรรคผลได้ 3. โพธิสัตวยาน (พู่สักเส็ง) คือยานของพระโพธิสัตว์ ซึ่งได้แก่ผู้มีใจคอกว้างขวาง ประกอบด้วยมหากรุณาในสรรพสัตว์ ไม่ต้องการอรหัตภูมิ ปัจเจกภูมิ แต่ปรารถนาพุทธภูมิ เพื่อโปรดสัตว์ได้กว้างขวางกว่า 2 ยานแรก และเป็นผู้รู้แจ้งในศูนยตาธรรม ตรีกายของพระพุทธเจ้า หลักใหญ่ ๆ ของมหายานอยู่ที่หลักเรื่อง ตรีกายกายทั้ง 3 ของพระพุทธเจ้า หลังจากที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว เหล่าสาวกเริ่มคิดถึงความเป็นอัจฉริยะของพระองค์มากยิ่งขึ้น ตามทัศนะของสาวกยานิกชน พระพุทธเจ้าเป็นอภิบุคคล ผู้ได้บรรลุความสมบูรณ์แห่งปัญญาในชีวิตนี้ เพราะอำนาจความเจริญทางจิตใจ และบุญกรรมที่ได้สั่งสมมาแต่อดีตชาติ ความเคารพอันลึกซึ้งที่เหล่าสานุศิษย์ของพระองค์มีอยู่ ทำให้ไม่พอใจด้วยความเป็นมนุษย์ธรรมสามัญของพระบรมครูของตน จึงพยายามสร้างสรรค์ให้พระองค์เป็นสิ่งที่เหนือกว่าวิญาณอมตะ ถึงคัมภีร์บาลีก็ได้กล่าวถึงชีวิตอันสูงล้ำสำหรับพระพุทธเจ้า นอกเหนือไป จากชีวิตโลกีย์อีกด้วย เพราะความคิดว่า พระพุทธเจ้ามีสภาพสูงล้ำเหนือชีวิตโลกีย์ จึงทำให้ ปราชญ์ฝ่ายมหายานอธิบายถึงพระพุทธเจ้าใน 3 วิธีคือ 1. นิรมาณกาย หมายถึง กายที่เปลี่ยนแปลงได้ ตามสภาพของสังขารในฐานะที่เป็นมนุษย์ พระศากยมุนีผู้ท่องเที่ยวอยู่บนโลก สั่งสอนธรรมแก่สานุศิษย์ของพระองค์ ดับขันธปรินิพพานเมื่อพระชนมายุได้ 80 พรรษา 2. สัมโภคกาย หมายถึง กายอันมีส่วนแห่งความรื่นเริงในฐานะเป็นพุทธอุดมคติผู้สั่งสอนแก่พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นกายของพระพุทธองค์อันสำแดงปรากฏให้เห็นเฉพาะหมู่ พระโพธิสัตว์ มหาสัตว์ เป็นทิพย-ภาวะมีรัศมีรุ่งเรืองแผ่ซ่านทั่วไป เพราะฉะนั้น แม้จนกระทั่งบัดนี้ พระโพธิสัตว์ก็ยังอาจจะเห็นพระศากยมุนีพุทธเจ้าได้ในรูปสัมโภคกาย พระพุทธองค์ยังทรงอาจสดับคำสวดมนต์ของเรา แม้พระองค์จะดับขันธปรินิพพานไปแล้วก็ดี ทั้งนี้ก็ด้วยการดับขันธปรินิพพานนั้นเป็นเพียงการสำแดงให้เห็นปรากฏในรูปนิรมานกายเท่านั้น 3. ธรรมกาย หมายถึง กายอันเกิดจากธรรม ในฐานะเป็นสภาพสูงสุด หลักแห่งความรู้ ความกรุณา และความสมบูรณ์ ธรรมกาย ตามนัยแห่งเถรวาทหมายถึงพระคุณทั้ง 3 ของพระพุทธเจ้า อันได้แก่ พระปัญญาคุณ พระวิสุทธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ จุดหมายสูงสุดของมหายาน หลักสำคัญของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน คือหลักแห่งพระโพธิสัตวภูมิ ซึ่งเป็นหลักที่พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานแต่ละนิกายยอมรับนับถือ ทุกๆ นิกายย่อมมุ่งหมายโพธิสัตวภูมิ ซึ่งเป็นเหตุที่ให้บรรลุพุทธภูมิ บุคคลหนึ่งบุคคลใดที่จะบรรลุถึงพุทธภูมิได้ ก็ต้องผ่านการบำเพ็ญจริยธรรมแห่งพระโพธิสัตว์มาก่อน ทั้งสิ้น มนุษย์ทุกคนมีพุทธภาวะ พุทธภาวะคือธรรมชาติการรู้แจ้ง ของมนุษย์ทุกคน ที่สามารถพัฒนาตนได้จนถึงความพ้นทุกข์ ความหมายและความเป็นพุทธภาวะ โดยจะยึดถือตามแนวของท่าน เว่ยหล่าง (ฮุ่ยเล้ง) สังฆปรินายกองค์ที่ 6 แห่งนิกายธยานหรือเซน ในประเทศจีน ซึ่งท่านได้อรรถาธิบายว่าปัญญาญาณ ที่ทำสัตว์ให้ลุถึงการตรัสรู้นั้น มีอยู่ในตัวเราทุก ๆ คนเรียกว่าพุทธภาวะ แต่เป็นเพราะมีอวิชชาความมืดบอดที่ครอบงำใจของเราไว้ เราจึงมองไม่เห็นมันด้วยตนเอง จนเราต้องเสาะแสวงคำแนะนำตักเตือนจากผู้อื่น ที่เขาได้เห็นแจ้งแล้วก่อนหน้าที่เราจะรู้จักจิตเดิมแท้ของเราเอง เราควรจะทราบไว้ว่า ถ้าธรรมชาติแห่งการเป็นพุทธยังถูกห่อหุ้มเกี่ยวพันอยู่เพียงใดแล้ว ก็ไม่มีความแตกต่างอะไรกัน ระหว่างผู้ที่เห็นแจ้งกับผู้ที่มืดบอด ข้อที่แตกต่างกันนั้น อยู่ที่คนหนึ่งได้ตรัสรู้แจ่มแจ้ง เพราะพุทธภาวะอันเกี่ยวกับผู้นั้นถูกเพิกถอนเครื่องห่อหุ้มได้หมดจดแล้ว ส่วนอีกคนหนึ่งยังมืดมิดอยู่ แม้แต่บรรดาพวกที่สวดร้องถึงคำว่า ปรัชญา อยู่ตลอดทั้งวัน ก็ดูเหมือนว่าเขาเหล่านั้นไม่ได้ทราบเลยว่า ปรัชญานั้นมีอยู่ในธรรมชาติเดิมของเขาเองแล้ว ก็การที่เพียงแต่พูดกันถึงอาหาร ย่อมไม่อาจบำบัดความหิวได้ฉันใด ในกรณีของบุคคลผู้เอ่ยถึงปรัชญาแต่ปาก ก็ไม่อาจขจัดความมืดบอดได้ฉันนั้น เราอาจพูดกันถึงเรื่องศูนยตา เป็นเวลาตั้งแสนกัลป์ก็ได้ แต่ว่าลำพังการพูดอย่างเดียว ไม่สามารถทำให้เราเห็นแจ้งในจิตเดิมแท้ได้ และในที่สุดก็ไม่ได้อะไรตามที่ตนประสงค์เลย วิสุทธิภูมิ พุทธภูมิ มหายานมีมติว่า พระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์มีจำนวนมากมายดุจเมล็ดทรายในคงคา นที และในจักรวาลอันเวิ้งว้างนี้ ก็มีโลกธาตุที่มีพระพุทธเจ้ามาอุบัติแสดงพระสัทธรรมเทศนาอยู่ทั่วไปนับประมาณมิได้ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เช่น ปัจจุบันโลกธาตุของเราว่างจากพระพุทธเจ้ามา 2 พันกว่าปี แต่ในขณะนี้ ณ โลกธาตุอื่นก็มีพระพุทธเจ้าองค์อื่น ๆ ทรงดำรงพระชนม์อยู่ และกำลังสั่งสอนสรรพสัตว์ โลกธาตุที่มีพระพุทธเจ้ามาอุบัตินั้น บางทีเรียกว่า พุทธเกษตร บางพุทธเกษตรบริสุทธิ์สมบูรณ์ด้วยทิพยภาวะน่ารื่นรมย์ สำเร็จแล้วด้วยอำนาจปณิธานของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นก็มี สำเร็จแล้วด้วยกรรมนิยมของสัตว์ก็มี เป็นสถานที่สรรพสัตว์ในโลกธาตุอื่น ๆ ควรมุ่งไปเกิด พุทธภูมิที่เป็นที่รู้จักกันกว้างขวางในหมู่พุทธศาสนิกชน ที่สำคัญและมีชื่อเสียงโด่งดัง คือ สุขาวดีพุทธเกษตร ของพระอมิตาภะ อยู่ทางทิศตะวันตกแห่งหนึ่ง พุทธเกษตรของพระพุทธไภสัชชคุรุไวฑูรย์ประภา-ราชา อยู่ทางทิศตะวันออก เป็นพุทธเกษตรซึ่งมีรัศมีไพโรจน์แล้วด้วยมณีไพฑูรย์ พุทธเกษตรของพระอักโษภยะแห่งหนึ่ง และมณฑลเกษตรของพระเมตไตรยโพธิสัตว์ในดุสิตสวรรค์อีกแห่งหนึ่ง เกษตรทั้ง 4 นี้ ปรากฏว่าสุขาวดีพุทธเกษตรของพระอมิตาภะ เป็นที่นิยมของพุทธศาสนิกชนฝ่ายมหายานมากที่สุด ถึงกับสามารถตั้งเป็นนิกายโดยเอกเทศต่างหาก หลักแห่งโพธิสัตวยาน โพธิสัตวยาน (พู่สักเส็ง) คือยานของพระโพธิสัตว์ ซึ่งได้แก่ผู้มีใจคอกว้างขวาง ประกอบด้วยมหากรุณาในสรรพสัตว์ ไม่ต้องการอรหัตภูมิ ปัจเจกภูมิ แต่ปรารถนาพุทธภูมิ เพื่อโปรดสัตว์ได้กว้างขวาง และเป็นผู้รู้แจ้งในศูนยตาธรรม หลักพระโพธิสัตวยานนั้น ถือว่าจะต้องบำเพ็ญ ทศปารมิตาหรือทศบารมีให้สมบูรณืจึงจะบรรลุการตรัสรู้ได้ ทศ ปารมิตา.คือ บารมี 10 ได้แก่ 1.ทานปารมิตา หรือ ทานบารมี 2.ศีลปารมิตา หรือ ศีลบารมี 3.กฺษานฺติปารมิตา หรือ ขันติบารมี 4.วีรฺยปารมิตา หรือ วิริยบารมี 5.ธฺยานปารมิตา หรือ ฌานบารมี 6.ปรชฺาปารมิตา หรือ ปัญญาบารมี 7.อุปายปารมิตา หรืออุบายบารมี 8.ปฺรณิธานปารมิตาหรือประณิธานบารมี 9.พลปารมิตา หรือ พลบารมี 10.ชฺานปารมิตา หรือ ญาณบารมี อันที่จริง หลักนี้อาจสงเคราะห์ลงในหลักอริยสัจ 4 ซึ่งเป็นมูลอนุศาสนีของพระพุทธศาสนา ตามแนวแห่งพระพุทธศาสนาฝ่ายทักษิณนิกาย เราถือว่าทุกข์ต้องกำหนดรู้ สมุทัยต้องละ นิโรธต้องทำให้แจ้ง มรรคต้องเจริญ ฝ่ายโพธิสัตวยานก็เหมือนกัน แต่มีข้ออธิบายเพิ่มเติมคือ ทุกข์ นอกจากจะต้องกำหนดรู้ด้วยตนเองแล้ว เราจำต้องให้สรรพสัตว์กำหนดรู้ทุกข์ด้วย ไม่ใช่ตัวเรากำหนดรู้ทุกข์เพียงคนเดียว แม้สมุทัย นิโรธ มรรค ก็มีอรรถาธิบายเช่นเดียวกัน นี้เป็นอริยสัจ 4 ของพระโพธิสัตวยาน อันแตกต่างจากฝ่ายทักษิณนิกาย โพธิสัตวจริยา ข้อที่จะต้องบำเพ็ญ คือบารมี 6 อัปปมัญญา 4 และมหาปณิธาน 4บารมีนั้น ความจริงมีอยู่ 10 แต่ย่อลงเป็น 6 มีทาน ศีล วิริยะ ขันติ ฌาน และ ปัญญา (รวมถึง อุบาย ประณิธาน พละ ชญาน) นอกจากบารมี 6 ประการนี้ พระโพธิสัตว์ยังจะต้องมีอัปปมัญญาภาวนาอีก 4 คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา เรียกอีกนัยหนึ่งว่า อัปปมาณหฤทัยซึ่งในพระพุทธธรรมฝ่ายเถรวาทก็มีเหมือนกัน มีคำอธิบายว่า เมตตา พระโพธิสัตว์ต้องให้ความสุขแก่สรรพสัตว์ กรุณา พระโพธิสัตว์ต้องปลดเปลื้องความทุกข์ของสรรพสัตว์ มุทิตา พระโพธิสัตว์ต้องยินดีอนุโมทนา เมื่อสัตว์พ้นทุกข์และได้สุข ส่วน อุเบกขา ตามรูปศัพท์ภาษาจีนแปลว่า ละ คือ พระโพธิสัตว์จะต้องไม่ยึดถือในความดี ว่าตนได้บำเพ็ญไปให้ผู้ใดผู้หนึ่ง และไม่ยึดถือในการปรารถนาตอบแทนด้วย พระโพธิสัตว์จะต้องรำลึกเสมอว่า คุณความดีที่ท่านได้บำเพ็ญนั้น ต้องมีความรู้สึกว่า ท่านมิได้บำเพ็ญ ต้องไม่รู้สึกยึดถือว่าท่านบำเพ็ญความดี ตราบใดที่มีความรู้สึกว่าตัวเราเข้าไปแทรกในการทำอย่างนี้อยู่ ตราบนั้นก็ยังไม่นับว่าทำถูกตามจุดประสงค์ ยกตัวอย่างด้วยการให้ทาน พระโพธิสัตว์จะต้องรู้สึกว่าไม่มีผู้ให้และไม่มีวัตถุที่จะให้ ตลอดจนไม่มีผู้ที่จะรับทานด้วย พระโพธิสัตว์องค์ใดถ้ายังมีความรู้สึกเช่นนี้ไม่ได้ ก็ยังจัดเข้าเป็นการทำทานอย่างโลกิยะไป ต้องทำลายความยึดถือว่า เรากำลังทำความดี ทำลายความยึดถือว่า ผู้นั้นผู้นี้กำลังรับทานจากเราเสียก่อน จึงจะเป็นลักษณะของการให้ทานอย่างพระโพธิสัตว์อย่างแท้จริง พระโพธิสัตว์ย่อมประกอบด้วยคุณสมบัติ 3 ประการ 1.มหาปรัชญา(ไต่ตี่) หรือปัญญาอันยิ่งใหญ่ หมายความว่า จะต้องเป็นผู้มีปัญญาเห็นแจ้งสัจธรรมไม่ตกเป็นทาสของกิเลส การบวชก็เพื่อเอาชนะกิเลสที่มีอยู่ในตนให้ได้ด้วยความเพียรและปัญญาเป็นการสร้างอัตตัตถประโยชน์คือประโยชน์เพื่อตนเองให้ถึงพร้อม 2.มหากรุณา(ไต่ปุย) หมายความว่า จะต้องเป็นผู้มีจิตใจกรุณาต่อสรรพสัตว์ปราศจากขอบเขต พร้อมที่จะสละตนเองเพื่อช่วยเหลือสัตว์ให้พ้นทุกข์ ข้อนี้ถือว่าเป็นหน้าที่ของภิกษุสามเณร ที่จะอนุเคราะห์ผู้อื่นมีบิดามารดาเป็นต้น จัดเป็นปรัตถประโยชน์ คือบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่น 3.มหาอุปาย(ไต่ฮวงเปี๋ยง) หมายความว่า พระโพธิสัตว์จะต้องมีวิธีการชาญฉลาดในการแนะนำสั่งสอนผู้อื่นให้เข้าถึงสัจธรรม ข้อนี้ก็เป็นการบำเพ็ญตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น มหาปณิธาน 4 นอกจากดังที่กล่าวมาแล้ว พระโพธิสัตว์ต้องตั้งมหาปณิธาน4 1.สรรพสัตว์ทั้งหลายอันประมาณมิได้ เราจักโปรดให้หมดสิ้น เราจะต้องปลดเปลื้องสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ ข้อนี้เทียบด้วยอริยสัจ 4 ในข้อทุกขสัจ ซึ่งมีหน้าที่ต้องกำหนดรู้ คือเมื่อเรารู้ว่าเราทุกข์ เราก็ย่อมแจ้งให้คนอื่น ๆ ทราบว่า เขาก็มีทุกข์เช่นเดียวกัน แต่พระโพธิสัตว์จะต้องปรารถนาความพ้นทุกข์แห่งสรรพสัตว์อีกด้วย 2. กิเลสทั้งหลายที่ไม่สงบระงับ เราจะกำจัดให้หมดสิ้น เราจะต้องละทิ้งทำลายให้หมด และปรารถนาที่จะให้สรรพสัตว์ทำลายกิเลสเหล่านั้นด้วย ข้อนี้เทียบด้วยข้อสมุทัยคือตัณหาซึ่งเราจะต้องละ จะเจริญไม่ได้ ข้างฝ่ายมหายานถือว่า นอกจากตัวเราจะทำลายกิเลสของเราเองแล้ว จึงต้องช่วยแนะนำให้สรรพสัตว์ทำลายกิเลสของเขาด้วย 3. ธรรมทั้งหลายอันไม่มีประมาณ เราจะต้องศึกษาให้เจนจบ เราจักต้องเรียนรู้และทำความศึกษาปฏิบัติ เทียบด้วยมรรคสัจซึ่งต้องเจริญให้มีขึ้น เราจึงจะกำหนดรู้ทุกข์และสมุทัยได้ และจะต้องยังสรรสัตว์ให้ศึกษาในพระธรรมด้วย 4. พุทธมรรคอันประเสริฐ เราจะต้องบรรลุให้จงได้ เทียบด้วยทำนิโรธสัจให้แจ้ง และจะต้องยังสรรพสัตว์ให้บรรลุถึงด้วย เพราะฉะนั้น ตามปณิธานทั้ง 4 นี้ เมื่อเทียบกับหลักอริยสัจแล้วจะเห็นว่า ฝ่ายมหายานต้องการจะปลดเปลื้องสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์
แต่โดยส่วนตัว จะเถรวาทหรือมหายาน ก็โปรดสัตว์ทั้งนั้น และก็ปรารถนาโปรดจนหมดเหมือนกัน ในฝ่ายศรัทธาและปณิธาน ฟากฝ่ายปัญญาก็เหมือนกัน คือ อนัตตา หรือ สุญญตา
ฝ่ายมหายาน มักจะพูดแบบเป็นปรัชญา มักจะใช้คำพูดที่ดูสูงส่ง ทำให้คนทั่วไปเข้าใจได้ยาก ยกตัวอย่างด้วยการให้ทาน พระโพธิสัตว์จะต้องรู้สึกว่าไม่มีผู้ให้และไม่มีวัตถุที่จะให้ ตลอดจนไม่มีผู้ที่จะรับทานด้วย พระโพธิสัตว์องค์ใดถ้ายังมีความรู้สึกเช่นนี้ไม่ได้ ก็ยังจัดเข้าเป็นการทำทานอย่างโลกิยะไป ต้องทำลายความยึดถือว่า เรากำลังทำความดี ทำลายความยึดถือว่า ผู้นั้นผู้นี้กำลังรับทานจากเราเสียก่อน จึงจะเป็นลักษณะของการให้ทานอย่างพระโพธิสัตว์อย่างแท้จริง ถามหน่อยเถอะคนทั่วๆไปจะฟังรู้เรื่องเหรอ คนทั่วไปที่ฟังก็จะรู้สึกว่าคำนี้มันสูงส่งมากๆเลย แต่ถ้าจะเอาไปปฏิบัติจริง คนพวกนั้นจะเอาคำพวกนี้ไปปฏิบัติได้อย่างไร อย่างเช่น เวลามีคนให้ของแก่ท่าน ท่านก็คิดว่าเขาไม่ได้ให้อะไรท่าน วัตถุไม่มี ผู้ให้ไม่มี ผู้รับไม่มี จิตใจก็ไม่ก่อกุศล เกิดมิฉาทิฏฐิไปเสียอีก ทำไมไม่ใช้คำง่ายๆเหมือนอย่าง ฝ่ายเถรวาท ว่า เราคือจิต คือธาตุรู้ ร่างกายนี้เป็นร่างกายที่เราอาศัยอยู่แค่ชั่วคราว ร่างกายนี้ต้องตาย เมื่อร่างกายตายเราคือจิต ก็ไม่อาจเอาร่างกายนี้ไปได้ ไม่อาจเอาอะไรไปได้เลย เพราะทุกอย่างของโลกนี้ไม่ใช่ของเรา เรามีอำนาจใช้เฉพาะเวลาที่เรายังอาศัยในร่างกายนี้เท่านั้น เมื่อร่างกายนี้พังเมื่อไร ทรัพย์สินที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ก็ไม่ใช่ของๆเราอีก และเวลาให้ทาน เป็นทานบารมี เวลาให้ก็เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่นและสงเคราะห์ตัวเราเองด้วย ว่าผู้อื่นเมื่อได้รับทานจากเราก็จะเกิดความยินดี มีความสุข เมื่อได้รับทานจากเรา อย่างเช่นร่างกายหิว มีความทุกข์เพราะต้องการอาหาร เราให้อาหารแก่เขา ทำให้เขาคลายความทุกข์ ทำให้คลายความหิวได้ ก็จะมีความสุข เมื่อได้รับทานจากเรา ส่วนเราผู้ได้ให้ทานก็เกิดความยินดี ว่าเราได้เอาทรัพย์นั้นฝั่งดิน และการให้ทานก็เพื่อทำลายความโลภ ทำลายความตระหนี่แน่นเหนียว ยิ่งเราให้ทานมากเท่าไร ความโลภและความตระหนี่ก็ลดลงมากเท่านั้น เราก็เกิดความสุข เมื่อได้ให้ทาน ฝ่ายมหายาน ทำไมไม่ใช้คำพูดง่ายๆ เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายๆ เพื่อนำเอาไปปฏิบัติได้ ถ้ามัวแต่ใช้คำพูดที่ดูสูงส่ง แต่ไม่เข้าใจ และเอาไปปฏิบัติไม่ได้ คำพูดนั้นก็ไร้ประโยชน์ครับ
คำสอนของแต่ละสายต่างก็มีความงดงามอยู่ในตัวครับ แม้ศิลปะชิ้นเดียวกัน หรือบทเพลงบทเดียวกัน แต่ผู้ที่จะเข้าใจหรือเข้าถึงสิ่งเหล่านี้อาจรู้สึกแตกต่างกันไปตามจริต ตามปัญญา ตามประสบการณ์ ตามความละเอียดของใจของแต่ละท่าน ฯลฯ ขอให้ท่านเลือกเอาในสิ่งที่ดีมีประโยชน์ตามที่ท่านสามารถเข้าใจได้ในแต่ละสาย มาใช้ในการบำเพ็ญบุญสร้างบารมีเถอะครับ เมื่อท่านมีประสบการณ์ มีบารมีเพิ่มขึ้นท่านจะค่อยๆเข้าใจในสิ่งที่คิดว่าเข้าใจได้ยากในตอนแรก ก็จะดูง่ายขึ้นเอง ไม่ต่างจากการเรียนหนังสือในสมัยเด็กๆวิชาที่เราว่ายาก พอเราโตขึ้นมีความรู้มีประสบการณ์มากขึ้นแล้วกลับไปอ่านใหม่จะรู้สึกไม่ยากเหมือนในสมัยก่อนเลย
ทางมหายาน ได้พัฒนาสภาวะนิพพานและพุทธองค์หลังปรินิพพาน โดยพูดถึง นิรมาณกาย สัมโภคกาย และธรรมกาย และพุทธเกษตรของพระพุทธเจ้าแต่ละองค์ โดยที่ว่ามีการถกเถียงกันว่า เมื่อปรินิพพานแล้ว เหล่าเทวดาและมนุษย์จะไม่เห็น กับ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นพุทธองค์ ถ้าเราไปเชื่อว่า นิพพานแล้วดับสูญ ก็จัดเป็นมิจฉาทิฏฐิ ในพุทธธรรม ท่าน ป.ปยุต ท่านก็เขียนในพระไตรปิฎก พุทธองค์ตรัสว่า มีอาตยตนะที่เตโช อาโป วาโย .. ลงไม่ได้
ตอนเด็กๆ ที่ผมสับสนในคำสอนต่างๆ ในตำราทางพุทธว่าอะไรจริง ควรเชื่ออะไรดี พอนั่งสมาธิช่วงหนึ่ง รู้สึกตกภวังค์ วูบไปสักพักพอรูสึกก็รู้สึกว่านั่งสมาธิลอยอยู่ในกลางพุทธรูป และได้ยินเสียงบอกว่า หลักพุทธธรรมอยู่ในพุทธธรรม แล้วก็วูบมานั่งปกติบนพื้นที่ห้อง รู้ว่าที่นั่งลอยในกลางพุทธรูปคือพุทธรูปที่วางไว้บูชาข้างหน้า แต่เสียงที่ก้องกังวานที่บอกนั้น จิตไม่บอกอะไรเลย แต่รุ่งเช้า เดินไปห้องสมุดก็พบหนังสือพุทธธรรม ของท่าน ป.ปยุต พอดี มันเหมาะเจาะที่เดินไปโดยไม่ได้ดูหมวดหมู่ที่วาง แต่พอเดินถึงจุดก็ชะโงกหน้าลงไปดูในชั้น ก็พบหนังสือเล่มนี้ลอยเด่นเลยครับ สำหรับผมแล้วตอนอายุ 15 -16 ปี การกราบพุทธรูปคือ ที่ระลึกถึงพุทธองค์ ไม่ใช่วัตถุที่กราบบูชาอย่างเทพ อย่างศาลเจ้า แต่เป็นวัตถุสำหรับพุทธานุสติเท่านั่น
ผมเคยอ่านพระไตรปิฎกช่วงหนึ่ง อดีตพระโพธิสัตว์(พุทธองค์ปัจจุบัน) เคยไปกราบพุทธเจ้าองค์ที่แล้ว ก็มีปิติขนลุกขนชันยาวนาน 7วันบ้าง15 วันบ้าง สามเดือนบ้าง ก็ดูถ้อยคำที่บรรยายก็รู้สึกการเห็นพุทธองค์คงโชคดีมาก เราทุกวันนี้ ไม่มีใครได้เห็นก็น่าเสียดาย จนตอนบรรพชาสามเฌรก็ไปพบพระโพธิสัตว์พระองค์หนึ่ง ผมมีปิติขนลุกขนชันไปสามเดือน จึงทราบว่า ที่คนพูดว่าเห็นพระโพธิสัตว์เหมือนเห็นพุทธองค์นั้น ไม่ผิดจากคำกล่าวเลยครับ
ข้อนี้ตอบได้ยากเหมือนกันเพราะตราบใดที่เรายังไม่สามารถเห็นธรรมที่แท้จริงหรือยังไปไม่ถึงอายตนะนิพพานจริงๆก็ย่อมสงสัยอยู่แบบนี้ต่อไปครับ ส่วนตัวผมแล้วคิดว่าถ้ามีที่แห่งใดมีความสุขเป็นอมตะนิรันดรจริงๆ ผมก็อยากจะไปที่นั่นแหละครับ คิดตามหลักเหตุผลตรงไปตรงมา (ส่วนท่านใดจะคิดว่าความสุขแท้คือการดับสูญก็เรื่องของเขา ผมไม่เอาด้วยหรอก)
หลวงพ่อฤาษีฯท่านกล่าวว่า นิพพานไม่ได้แปลว่าดับ ไม่ได้แปลว่าสูญ แต่แปลว่าว่าง คือสภาวะที่ว่างจากกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศล พวกที่แปลว่าดับ แปลว่าสูญ ท่านบอกพวกนั้นแปลผิด และไม่เข้าใจคำแปลนั้น หลักธรรมที่ผมสนใจศึกษาจริงๆ ผมจะศึกษาจากพระอริยเจ้าเท่านั้น เพราะพระอริยเจ้า ท่านเข้าถึงสภาวะธรรมนั้นแล้ว ต่างจากผู้ที่ไม่ใช่พระอริยเจ้า ที่อาจจะแปลผิด และเข้าใจผิดได้ เพราะยังไม่เข้าถึงสภาวะธรรมนั้น
"..การเห็น เป็นเหตุแห่ง การคิด ... การคิด เป็นเหตุแห่ง การเห็น ถ้าคิดดีก็เป็นทางเย็น.. หากคิดไม่เป็นก็เย็นสบายฯ" ข้อคิด..ปริศนาธรรม หลวงปู่เกษม เขมโก อริยสงฆ์แห่งสุสานไตรลักษณ์ อนุโมทนาในธรรมทานของทุกท่านค่ะ ลองแวะอ่านเพื่อไขปริศนาธรรมได้ที่นี่นะคะ http://palungjit.org/threads/คิดดีก...็นก็เย็นสบาย-คติธรรมหลวงปู่เกษม-เขมโก.555806/ ขอให้มีความสุขและเจริญในธรรมทุกท่านค่ะ พุทโธ เม นาโถ __________ ลมหายใจสุท้าย..ขอถวายเป็นพุทธบูชา